posttoday

พาณิชย์เคลียร์ปาล์มราคาตก สมาคมไบโอดีเซลหนุนรัฐใช้B10

20 เมษายน 2561

พาณิชย์ยันราคาปาล์มดิบเคาะราคาขาย 3.40 บาท/กก. เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่อง ทั้งผลักดันส่งออก ควบคุมการนำเข้า

พาณิชย์ยันราคาปาล์มดิบเคาะราคาขาย 3.40 บาท/กก. เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่อง ทั้งผลักดันส่งออก ควบคุมการนำเข้า

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะทำงานกำหนดราคาแนะนำผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ได้กำหนดราคาแนะนำผลปาล์มน้ำมันใหม่ มีราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม (กก.) ละ 3.40 บาท (เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18%) เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ มีราคา กก.ละ 19 บาท

สำหรับการปรับราคาแนะนำน้ำมันปาล์มได้ดำเนินการมา 2 ครั้ง นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2561 กำหนดราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 3.80 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มดิบ มีราคา กก.ละ 21 บาท หลังจากวันที่ 15 มี.ค. 2561 ผลปาล์มน้ำมันออกตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาผลปาล์มน้ำมันเหลือ 3.30 บาท/กก. และน้ำมันปาล์มดิบลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือ 19 บาท/กก. และมีแนวโน้มที่ราคาจะลดลงอีก

ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ได้หารือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแล้วและออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่า ราคาสินค้าและบริการ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2561 ปรับราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบไม่ต่ำกว่า กก.ละ 19 บาท และราคาผลปาล์มน้ำมัน อยู่ที่ กก.ละ 3.30-3.40 บาท เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์มดิบให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาวะตลาด และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งอยู่ต้นน้ำที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 4-5 เม.ย. กรมการค้าภายใน ได้จัดคณะติดตามตรวจสอบระบบการซื้อขายปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของโรงสกัดน้ำมันปาล์ม โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม และโรงงานผลิตไบโอดีเซล เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้าในพื้นที่แหล่งผลิตปาล์มน้ำมันฯ จ.ชุมพร กระบี่ สุราษฎร์ธานี สมุทรปราการ และปทุมธานี โดยได้ตรวจสอบการรับซื้อ และทำความเข้าใจกับโรงงานสกัดฯ แล้ว ปรากฏว่ามีการปรับราคารับซื้อผลปาล์มสูงขึ้นเป็น กก.ละ 3 บาท ซึ่งสอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในขณะนั้น

รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดแหล่งผลิตพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับดูแล ตรวจสอบ เร่งรัด ให้โรงสกัดน้ำมันรับซื้อผลปาล์มน้ำมันคุณภาพตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน โดยเข้มงวดกวดขันและกำหนดมาตรการไม่ให้นำผลปาล์มน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพกลับเข้าสู่โรงสกัดน้ำมันปาล์มได้อีก

ปัจจุบันราคาผลปาล์มสุก (18% น้ำมัน) ในพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ กก.ละ 3.10-3.40 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตที่ กก.ละ 3 บาท

อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในได้เตรียมแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วน เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาดพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติต่อไป

ด้าน นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า ทางสมาคมพร้อมสนับสนุนนโยบายการใช้ไบโอดีเซล (บี100) จากเดิมสัดส่วน 7% หรือ B7 เป็น 10% หรือ B10 โดยขอให้รัฐเร่งขั้นตอนเพื่อประกาศการใช้ B10 โดยเร็วที่สุด หากรัฐไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ในประเทศ เชื่อว่าสิ้นปีนี้สต๊อกซีพีโอจะพุ่งไปถึง 5.6 แสนตัน จากเดือน ก.พ.ที่มีสต๊อกอยู่ที่ 4 แสนตัน ซึ่งจะกดดันต่อราคาผลปาล์มน้ำมันให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมีผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม

ทั้งนี้ พร้อมปรับคุณสมบัติของบี100 ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์โดยให้ค่ายรถยนต์แจ้งก่อนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า รวมทั้งปรับโครงสร้างราคาไบโอดีเซลใหม่ให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ราคา B10 เพิ่มขึ้นมากจนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถ โดยเมื่อต้นปีนี้ราคาซีพีโอในไทย ปรับลดลงมา ใกล้กับผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่ระดับ 19 บาท/กก.

ปัจจุบันไทยมีการใช้ B7 คิดเป็นปริมาณความต้องการใช้บี100 เฉลี่ย 4.2 ล้านลิตร/วัน หากมีการประกาศใช้ B10 จะทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านลิตร/วัน เป็นการช่วยดูดซับซีพีโอเพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นตัน/เดือน หรือเฉลี่ย 5.4 แสนตัน/ปี เท่ากับปริมาณซีพีโอส่วนเกิน ขณะที่ผู้ประกอบการไบโอดีเซลทั้ง 13 ราย มีความสามารถในการผลิตรวม 6.6 ล้านลิตร/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านลิตร/วัน ในปี 2561

“ขณะนี้คงต้องรอนโยบายกรเะทรวงพลังงานจะส่งเสริมการใช้ B100 แค่ไหน ซึ่งเอกชนพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อดูดปริมาณทำให้ราคาขยับเพิ่มขึ้น”นายศาณินทร์ กล่าว