posttoday

รื้อแผนเก็บค่าน้ำใหม่

20 เมษายน 2561

“บิ๊กฉัตร” ตีกลับเรื่องเก็บค่าน้ำ สั่งให้ไปทบทวน ย้ำไม่แตะน้ำเกษตรยังชีพ น้ำกิน-น้ำใช้

“บิ๊กฉัตร” ตีกลับเรื่องเก็บค่าน้ำ สั่งให้ไปทบทวน ย้ำไม่แตะน้ำเกษตรยังชีพ น้ำกิน-น้ำใช้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการกําหนดอัตราค่าใช้น้ำตามร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปทบทวนเพื่อนำมาหารือใหม่อีกครั้ง เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่มีประเด็นที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันคือ สำหรับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรแบบยังชีพจะไม่มีการจัดเก็บแต่อย่างใด โดยจะจัดเก็บเพียงน้ำเพื่อการเกษตรเชิงพาณิชย์ น้ำเพื่ออุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเท่านั้น

ทั้งนี้ จะแยกการใช้น้ำเป็น 3 ประเภท คือ 1.เพื่อดำรงชีพหรือการอุปโภคในครัวเรือน และการเกษตรยังชีพ 2.เพื่อการเกษตร เพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า ประปา และ 3.เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำจำนวนมาก เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ

สำหรับประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาทบทวนนั้น ได้แก่ การจัดเก็บค่าน้ำ การติดตามและควบคุมการใช้น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจการบริหารจัดการ โดยจะมีกองทุนจัดการน้ำแห่งชาติขึ้นมาบริหาร เพราะที่ผ่านมามักมีปัญหาความไม่โปร่งใส ซึ่งเป็นการเอาประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่และเจ้าของกิจการ จึงต้องมีหน่วยงานขึ้นมาสอบทาน และกำหนดบทลงโทษทุจริตอย่างจริงจัง ขณะที่อัตราจัดเก็บต้องทำให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้ด้วย

ด้านการคิดอัตราค่าใช้น้ำ ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตรพาณิชย์ หรือน้ำในกิจการขนาดใหญ่ ควรมีการพิจารณาเก็บจากองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ 1.ค่าบํารุงท้องที่เพื่อรักษาระบบนิเวศน้ำ 2.ค่าลงทุนในการพัฒนาแหล่งน้ำ 3.ค่าดําเนินการให้บริการของหน่วยงาน และ 4.ค่าธรรมเนียมภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราการเก็บค่าน้ำเป็นไปตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่ต้องพิจารณา กฎหมายอื่นอีก 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.การชลประทาน ซึ่งกําหนดการใช้น้ำชลประทาน 2 ประเภท คือเพื่อการเกษตรทั้งในเขตชลประทาน/นอกเขตชลประทาน และน้ำจากทางน้ำชลประทาน หรือกิจการประปา หรืออื่นๆ นอกเขตชลประทาน 2.ร่าง พ.ร.บ.น้ำบาดาล ซึ่งกําหนดใช้น้ำบาดาล 3 ประเภท คือ น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำบาดาลเพื่อธุรกิจ และน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรกรรม ทั้งนี้พื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน และใช้น้ำที่ไม่ใช่น้ำบาดาล จะต้องเข้าข่ายการดำเนินการภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำด้วย