posttoday

ชำแหละโกงงบ "สวทช." ไม่ลงพื้นที่นั่งเทียนอนุมัติโครงการ

18 เมษายน 2561

จับพิรุธ!โครงการไอแทปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี พบไม่มีการไปตรวจเยียมก่อนอนุมัติโครงการ อาจารย์มหาวิทยาลัยสอดไส้บริษัทตัวเองรับงาน

จับพิรุธ!โครงการไอแทปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี พบไม่มีการไปตรวจเยียมก่อนอนุมัติโครงการ อาจารย์มหาวิทยาลัยสอดไส้บริษัทตัวเองรับงาน

*******************

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

กรณีโพสต์ทูเดย์ได้นำเสนอข่าว “งบทุจริตช่วยเอสเอ็มอีส่งกลิ่น” ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 17 มี.ค.61 จากกรณีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ตรวจพบความผิดปกติซึ่งผู้ดำเนินการเครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งดำเนินงานร่วมกับ สวทช. นำบริษัทของตัวเองเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการมากถึง 24 ราย

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการเครือข่ายรายนี้เป็นอาจารย์ประจำและเป็นรองผู้จัดการเครือข่าย ITAP ของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการกับ สวทช. ได้นำบริษัทวิจัยและพัฒนาของตนเองมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งน่าจะมิชอบเพราะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

ล่าสุดโพสต์ทูเดย์ตรวจสอบพบว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวมีพิรุธอย่างชัดเจน โดยเฉพาะไม่มีการไปตรวจเยี่ยมกิจการก่อนที่จะมีการอนุมัติโครงการ

ทั้งนี้ ตามกระบวนการในการแก้ไขปัญหาการผลิตหรือพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จะเริ่มจากการเข้าเยี่ยมโรงงานเพื่อสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้นโดยทีมที่ปรึกษาเทคโนโลยี ITAP แต่ในโครงการของมหาวิทยาลัยดังกล่าวไม่มีการเข้าเยี่ยมบริษัทหรือโรงงานเพื่อสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้น (Prelim) จากผู้ดำเนินงานเครือข่าย ITAP ทั้ง 7 คน

“ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการตรวจเยี่ยมบริษัทจริง เพียงแต่ผลัดกันลงนามในรายงานการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นที่ถูกจัดทำมาโดยอาจารย์ที่เป็นเจ้าของบริษัท”แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม ก่อนการวินิจฉัยปัญหาจะต้องมีจดหมายจากมหาวิทยาลัยไปถึงผู้ดำเนินงานเครือข่าย ITAP เพื่อยืนยันเป็นผู้วินิจฉัยไปตรวจเยี่ยมกิจการ และต้องมีการลงนาม พร้อมกับตอบกลับคำยืนยันทางโทรสาร หรือทางอีเมล ปรากฏว่าใบตอบเป็นผู้วินิจฉัยปัญหา กับวันที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมกิจการเป็นวันเดียวกัน อาทิ หจก.แห่งหนึ่ง วันตอบรับเป็นผู้เชี่ยวชาญคือ 24 ส.ค. 2560 และวันที่เข้าเยี่ยมชมกิจการคือ 24 ส.ค. 2560 โดยกิจการแห่งนี้ยังอยู่ที่ จ.ขอนแก่น ไม่ใช่ กทม.

นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานวันที่ยืนยันการเป็นผู้วินิจฉัยปัญหา และการเดินทางไปตรวจเยี่ยมกิจการยังตรงกับวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดราชการ อาทิ ของบริษัทแห่งหนึ่งที่ยืนยันและไปเยี่ยมกิจการวันเดียวกัน คือวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย. 2560 กิจการหลายแห่งยังกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้ง จ.ขอนแก่น ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งทำให้เป็นไปได้ยากที่วันยืนยันกับวันเข้าตรวจกิจการจะทำได้ในวันเดียวกัน

อนึ่ง ผู้ประสานงานโครงการ (ITA) ต้องลงนามในทุกรายงานการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นของทุกโครงการ และมีค่าตอบแทนให้ 3,000 บาท/โครงการ โดยจะได้รับ 2,000 บาทหลังเปิดโครงการ และ 1,000 บาทเมื่อปิดโครงการ

ในขณะผู้ที่ลงนามในฐานะผู้รายงาน (ผู้เข้าเยี่ยม) ในรายงานการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น ได้รับค่าตอบแทน 3,000 บาท/รายงาน ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2561 มีรายงานการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น (Prelim) 72 โครงการ (จำนวนนี้มี 40 โครงการได้รับการอนุมัติโครงการจาก สวทช.แล้ว) มีการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมค่าพาหนะ ค่าน้ำมัน
ค่าอาหาร ค่าที่พัก ของผู้เข้าเยี่ยมกิจการ เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้นทั้ง 7 คน จากมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดไม่มีการเข้าเยี่ยมบริษัทหรือโรงงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการจากผู้ดำเนินงานเครือข่าย ITAP ทั้ง 7 คน

อย่างไรก็ตาม มีเพียงจดหมายจากมหาวิทยาลัยไปถึงผู้ดำเนินงานเครือข่าย ITAP เพื่อยืนยันเป็นผู้ประเมินโครงการ (ระหว่างดำเนินการโครงการ) ไม่มีการทำรายงานการประเมินโครงการ (ระหว่างดำเนินการโครงการ) แต่กลับมีการเบิกค่าตอบแทนจำนวน 3,000 บาท เป็นค่า Monitor Project-Halfway ให้กับผู้ประเมินโครงการ อาทิ โครงการของ หจก.แห่งหนึ่งเท่านั้น

ขณะเดียวกันเมื่อไม่มีการเข้าเยี่ยมบริษัทหรือโรงงานเพื่อประเมินผลโครงการ เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ เพียงแต่ผลัดกันลงนามในรายงานเข้าเยี่ยมและประเมินผลโครงการ ซึ่งเป็นวิธีการที่เข้าข่ายมีการหาประโยชน์อย่างแน่นอน