posttoday

ส่องวิกฤต "แอร์พอร์ตลิงค์" ปัญหาที่ยังไร้คำตอบ

16 เมษายน 2561

แม้ว่าแอร์พอร์ตลิงค์จะมีผู้โดยสารสะสมทะลุ 100 ล้านคนเข้าไปแล้ว แต่กลับสวนทางกับจำนวนขบวนรถที่ยังไม่มีการสั่งซื้อเพิ่ม ส่งผลให้เกิดวิกฤตความแออัด

แม้ว่าแอร์พอร์ตลิงค์จะมีผู้โดยสารสะสมทะลุ 100 ล้านคนเข้าไปแล้ว แต่กลับสวนทางกับจำนวนขบวนรถที่ยังไม่มีการสั่งซื้อเพิ่ม ส่งผลให้เกิดวิกฤตความแออัด

***********************

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

คิวเข้าแถวที่ยาวเหยียดและขบวนรถที่แน่นเอี้ยดเหมือนปลาเบียดกันอยู่ในกระป๋องตลอดช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คงเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตาเมื่อนึกถึงแอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟฟ้าสายนี้ได้กลายมาเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักที่ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดดจนสามารถลบคำสบประมาทที่โดนโจมตีในช่วงแรกถึงเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ

แม้ว่าแอร์พอร์ตลิงค์จะมีผู้โดยสารสะสมทะลุ 100 ล้านคนเข้าไปแล้ว แต่กลับสวนทางกับจำนวนขบวนรถที่ยังไม่มีการสั่งซื้อเพิ่ม ส่งผลให้เกิดวิกฤตความแออัดจนเป็นที่น่ารำคาญใจของใครหลายคน

ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 8 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโต 133% จาก 3 หมื่นคน/วัน เพิ่มเป็น 7.2 หมื่นคน/วัน และมีจำนวน 8 หมื่นคน/วันในช่วงพีก โดยบันทึกสถิติล่าสุดมีผู้โดยสารสูงสุดที่ 2 ล้านคน/เดือน

ทว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาลถึงแนวทางแก้ปัญหาให้กับประชาชน โครงการจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวน วงเงิน 4,400 ล้านบาทนั้น เป็นแผนที่คลอดมาแล้วหลายปี แต่ก็ต้องยุติไปหลายครั้งหลายคราจากข้อร้องเรียนที่เข้ามา ทั้งการล็อกสเปกให้เอกชนจีนชนะการประกวดราคา ตลอดจนราคากลางที่สูงมากเมื่อเทียบกับตัวเลขของรัฐบาลมาเลเซียที่จัดซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัทเดียวกันแต่กลับถูกกว่าถึง 2,000 ล้านบาท

เมื่อ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เข้ามารับตำแหน่งช่วงแรก เคยมอบนโยบายให้แอร์พอร์ตลิงค์เร่งแผนจัดซื้อรถขบวนใหม่ แต่ก็ต้องกลับลำสั่งชะลอออกไปก่อน เพื่อรอให้เอกชนที่เข้ามาบริหารรถไฟฟ้า 3 สนามบิน ร่วมตัดสินใจว่าควรจัดซื้อหรือไม่

นอกจากนี้ ปัญหาแอร์พอร์ตลิงค์ที่เกิดขึ้นมีรถไฟเปิดให้บริการได้เพียง 6 ขบวน จาก 9 ขบวน ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเลื่อนเวลาเปิดเดินรถเร็วขึ้น 30 นาที ควบคู่ไปกับแผนการเสริมรถไฟดีเซลรางปรับอากาศวิ่งบนพื้นดินในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนวันละ 2 เที่ยว ซึ่งมีอัตราการรองรับผู้โดยสารได้เพียง 600 คน/เที่ยว พร้อมสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปศึกษาแนวทางการเช่าขบวนรถไฟฟ้ามาใช้แทนการจัดซื้อ

ปัจจุบันปัญหาความแออัดของการให้บริการยังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะรถที่ใช้เป็นแบบ Commuter ซึ่งมีความถี่น้อยกว่ารถไฟฟ้า MRT เกือบเท่าตัว โดยค่าความถี่เฉลี่ยของ MRT อยู่ที่ 5 นาที ขณะที่แอร์พอร์ตลิงค์อยู่ที่ 10 นาที

สุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (แอร์พอร์ตลิงค์) พูดถึงปัญหาดังกล่าวว่า พนักงานและผู้บริหารทุกคนกังวลมากเรื่องความแออัดของผู้โดยสารรถที่มีอยู่ 9 ขบวน มันไม่พอจริงๆ ต่อให้รถวิ่งทั้งหมดก็ยังไม่พอ ในปีต่อๆ ไปปัญหาก็มีแต่จะมากขึ้นในอนาคต

ส่องวิกฤต "แอร์พอร์ตลิงค์" ปัญหาที่ยังไร้คำตอบ

ทว่า ไม่ใช่เพียงปัญหาภายนอกเท่านั้น แต่ยังมีวิกฤตภายในให้ต้องแก้ไข วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รฟท. กล่าวว่า เมื่อได้ตัวเอกชนบริหารโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คงต้องมีการยุบแอร์พอร์ตลิงค์เพื่อเปิดทางให้เอกชนบริหาร แต่ทั้งนี้จะเร่งตั้งบริษัทลูกด้านเดินรถเพื่อเคลื่อนย้ายบุคลากรไปทำงานบริหารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ในปี 2563 สอดคล้องกับแหล่งข่าวจาก รฟท.ที่ระบุว่าตามแผนฟื้นฟูต้องเร่งลดรายจ่าย ดังนั้น รฟท.ต้องการรับพนักงานใหม่มากกว่าคนเก่า เพราะไม่อยากแบกรับภาระฐานเงินเดือนที่สูงเมื่อเทียบกับการรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส แม้ว่าจะไม่สามารถเพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสาร แต่จะเน้นเพิ่มคุณภาพบริการมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร อาทิ บริการอินเทอร์เน็ตฟรีกับผู้โดยสารในรูปแบบ Free Wi-Fi การติดตั้งตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถือในทุกสถานี ทั้งยังมีโครงการติดตั้งระบบตั๋วร่วมพร้อมเครื่องอ่านบัตรแมงมุม วงเงิน 140 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางด้วยบัตรใบเดียวตามนโยบาย One Transport ควบคู่ไปกับการจัดซื้อตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ (TVM) จำนวน 7 ตู้ ได้แก่ สถานีพญาไท 3 ตู้ สถานีลาดกระบัง 3 ตู้ และสถานีสุวรรณภูมิ 1 ตู้ คาดว่าจะติดตั้งเสร็จสิ้นปีนี้

อนาคตของแอร์พอร์ตลิงค์จะออกมาในทิศทางใด เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แอร์พอร์ตลิงค์ กล่าวว่า ในอนาคตเรามีความพร้อมบริหารรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะเป็นรางแบบมาตรฐาน 1.45 เมตรเท่ากัน ส่งผลให้เราสามารถวิ่งร่วมกันได้ เนื่องจากข้อจำกัดของโครงสร้างปัจจุบันทำให้รถไฟไฮสปีดต้องลดความเร็วเหลือ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วงลาดกระบัง-พญาไท ซึ่งเท่ากับความเร็วที่แอร์พอร์ตลิงค์วิ่งอยู่ปัจจุบัน จึงมองว่าสามารถให้บริการร่วมกันได้เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการเดินทางของประชาชน

สุดท้ายคงต้องฝากอนาคตไว้กับว่าที่กรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ของแอร์พอร์ตลิงค์ ให้เร่งแก้ไขคลี่คลายปัญหาทั้งหลายที่ได้กล่าวมาข้างต้น และด้วยความถี่ของรถที่ 8-10 นาที/เที่ยว จากสถิติพบว่าช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 07.30-09.00 น. และ 18.30-20.00 น. ผู้โดยสารต้องรอรถไฟฟ้าเฉลี่ย 3 ขบวน/ครั้ง ลองคำนวณดูเถอะว่าเราต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นมากน้อยสักเท่าใดกับการรอรถไฟฟ้า 1 ขบวน และแน่นอนว่าต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหากยังไร้คำตอบจากรัฐบาล