posttoday

ขึ้นไตรมาส2 "เศรษฐกิจไทย" เจอสารพัดความเสี่ยง

16 เมษายน 2561

แม้เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวได้ดี แต่ก็มีความเสี่ยงรุมเร้าที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

แม้เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวได้ดี แต่ก็มีความเสี่ยงรุมเร้าที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

***************************

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

เพียงผ่านไตรมาสแรกไปแค่ไม่กี่วัน ก็เกิดปัจจัยใหม่ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 เมื่อสหรัฐอเมริกาเปิดฉากถล่มซีเรีย ด้วยข้อหาใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือน และกลุ่มประเทศพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ประกาศสนับสนุน ซึ่งเป็นที่จับตาว่าผลจากเหตุการณ์นี้จะขยายลุกลามไปกระทบกับระบบเศรษฐกิจของโลกหรือไม่

สิ่งที่จะได้รับผลกระทบทันทีจากเหตุการณ์ระยะสั้นนี้คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเป็นขาขึ้นอยู่แล้ว ก็อาจจะปรับตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาด การเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลกที่จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน การค้าโลก เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประสานเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวได้มากกว่า 4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าปี 2560 ที่ขยายตัวได้ 3.9%

แม้แต่ธนาคารโลกที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าหน่วยงานอื่นมาตลอด ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 4.1% รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4% ทั้งหน่วยงานในและนอกประเทศมองตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 ยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกและการท่องเที่ยวเหมือนปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 6% แต่การส่งออกก็มีความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หากค่าเงินบาทในครึ่งปีหลังยังแข็งค่าเพิ่ม ก็จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบและการขยายเศรษฐกิจได้น้อยกว่าที่คาดไว้

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มขยายตัวได้ดี แต่ก็ยังอ่อนแอไม่เข้มแข็ง เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้น้อย เพราะเศรษฐกิจฐานรากยังมีปัญหารายได้ลดจากราคาพืชผลการเกษตรไม่ดี ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยอัดฉีดเงินเศรษฐกิจฐานรากผ่านการแจกสวัสดิการภาครัฐให้กับผู้มีรายได้น้อย

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มขยายตัวได้ดี หลังจากขยายตัวติดลบมาหลายปี ก็ยังไม่มั่นใจกับนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ เพราะจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า จึงต้องการรอความชัดเจนจากรัฐบาลมากกว่ารัฐบาลเก่า

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐก็ยังติดขัดเรื่องการเบิกจ่ายลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ล่าช้า ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2560 ทำให้การขยายตัวได้เพียง 3.9% จากที่รัฐบาลต้องการให้ขยายตัวได้ 4% ซึ่งทำให้รัฐบาลพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ 4-5% ได้ไวกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้

ดังนั้น จะเห็นว่าเศรษฐกิจปี 2561 ขยายตัวได้ดี แต่มีความเสี่ยงรุมเร้าที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ได้

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2561 ลดลง 3.7% จากเดิม 4% เนื่องจากการเลื่อนเลือกตั้งจากปลายปีนี้ไปเป็นปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยประเมินมาแล้วว่า หากไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.5-3.8% เนื่องจากนักลงทุนและผู้บริโภคกังวลว่านโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเกิดการชะงัก ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจสะดุด

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงรุมเร้าทำให้การขยายตัวมีปัญหา ได้แก่ สงครามการค้าที่สหรัฐกับจีนขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ระหว่างกัน กระทบส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ยังมีสงครามค่าเงินประเทศใหญ่ทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนลงเพื่อช่วยผู้ส่งออก กระทบไทยที่ต้องเผชิญเงินบาทแข็งค่า ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลง

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ประเทศต่างๆ ได้ประกาศลดภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุน ซึ่งรวมถึงไทยด้วย สงครามก่อการร้าย ผู้กระทำมีจุดประสงค์ให้คนหวาดกลัว กดดันบรรยากาศเศรษฐกิจ สงครามชนชั้น เห็นจากเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบเหลื่อมล้ำ ผู้ได้ประโยชน์คือธุรกิจใหญ่และผู้มีรายได้สูง แต่เอสเอ็มอีและคนฐานรากยังมีปัญหาขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากสังคมผู้สูงอายุที่กระทบต่อทั้งภาษี แรงงาน และความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ยังเป็นเนื้อร้ายเกาะกินสังคมและเศรษฐกิจไทยมาจนถึงทุกวันนี้

แม้แต่ สศช.ก็มองว่าเศรษฐกิจปี 2561 มีความเสี่ยงสำคัญทั้งการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรการขยายตัวมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้น้อยลง ความเสี่ยงจากราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย มีความเสี่ยงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยด้วย

นอกจากนี้ สศช.ยังมองว่าเศรษฐกิจปีนี้มีความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ มีความเสี่ยงที่จะทําให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง กระทบกับการส่งออกของไทยที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ

ขณะที่กระทรวงการคลังก็ยังเป็นห่วงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐที่จะมีการปรับขึ้น 3-4 รอบ โดยในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นแล้ว 1 รอบ และที่เหลือจะปรับปลายปี 2561 ทำให้กดดัน ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะงัก และการลงทุนภาครัฐมีต้นทุนเงินกู้ที่สูงขึ้น

ล่าสุดเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่เริ่มมีปัญหารอยร้าวไม่ลงตัว มีการโยกย้ายปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการโยก สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดคลัง ไปนั่งเป็นเลขาธิการ สศช.แทน ปรเมธี วิมลศิริ ที่ถูกโยกไปนั่งเป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มองว่าเป็นการวางกำลังพลผิดฝาผิดตัว

ที่สำคัญ สมชัย ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นข้าราชการ ทำให้การจัดทัพเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งรวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ให้เกิดการสะดุด ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญไม่แพ้ความเสี่ยงอื่นๆ ที่รุมเร้าอยู่จำนวนมากอยู่แล้ว