posttoday

เตือนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดนาข้าวช่วงฤดูร้อน

10 เมษายน 2561

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดนาข้าวช่วงฤดูร้อน

กรมส่งเสริมการเกษตร   เตือนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดนาข้าวช่วงฤดูร้อน

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูร้อนเริ่มพบการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแถบภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง แต่ไม่ถึงกับระบาดและทำความเสียหายกับผลผลิต โดยปัจจัยที่มีผลต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดสีน้ำตาล  คือสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิสูง ในนาข้าวมีน้ำขังตลอดเวลาทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มจำนวนได้มาก และการปลูกข้าวหนาแน่น ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตราสูง ใช้พันธุ์ข้าวไม่ต้านทาน และใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น  ทำให้ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหายไป

สำหรับวิธีการป้องกัน กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำว่า   ควรปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข 6  กข  31 กข 41  กข 47  สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 3สุพรรณบุรี 90  พิษณุโลก 2  เป็นต้น และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน  4 ฤดูปลูก และให้หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย (เชื้อสด) อัตรา 1 กิโลกรัม (2 ถุง) ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในบริเวณที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยพ่นในช่วงเวลาเย็น ทั้งนี้ สำหรับแหล่งที่มีการระบาดแต่สามารถควบคุมระดับน้ำในนาได้ หลังปักดำหรือหว่าน 2-3 สัปดาห์จนถึงระยะข้าวตั้งท้อง ให้ควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน  7-10  วันแล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้

หากจำเป็นต้องใช้สารกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แนะนำว่า ข้าวระยะกล้าถึงแตกกอ (อายุ 30-40  วัน)ใช้ บูโพรเฟซิน 25 % WP 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนข้าวระยะแตกกอเต็มที่ ใช้ อีโทเฟนพร็อกซ์ 10 % EC 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร และข้าวระยะตั้งท้องถึงออกรวง ใช้ ไทอะมิโทแซม 25 % WG 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และให้ระวัง ไม่ควรใช้สารเคมีบางชนิดในนาข้าวที่จะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดเพิ่มขึ้น คือสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ชนิดพ่นน้ำ ได้แก่ แอลฟาไซเพอร์เมทริน 10 % EC ไซแฮโลทริน แอล 5 % EC และไซเพอร์เมทริน 15 % EC 25 % EC อย่างไรก็ตาม ชาวนาควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ  หากพบการเข้าทำลายของศัตรูพืชให้รีบดำเนินการป้องกันกำจัดทันที

สำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Nilaparvata lugens เป็นแมลงปากดูดที่สามารถทำลายข้าวได้ทุกระยะการเจริญเติบโตด้วยการใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นเหนือระดับน้ำเล็กน้อย ทำให้ปริมาณคลอโรฟิลล์ โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ในต้นข้าวลดลง อัตราการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตช้า ต้นข้าวแสดงอาการใบเหลืองทำให้ผลผลิตข้าวลดลงตามไปด้วย อีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคใบหยิก (ragged stunt) และโรคเขียวเตี้ย (grassy stunt) ถ้าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดรุนแรง ต้นข้าวจะแสดงอาการไหม้แห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก เรียกว่า ฮอพเพอร์เบิร์น “hopper burn” ทำให้ข้าวแห้งตายได้