posttoday

1พ.ค.เริ่มทำนากรมชลฯส่งน้ำ22จ.เจ้าพระยา

07 เมษายน 2561

เพิ่มระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่ 17 เม.ย. ส่งผลให้ชาวนา 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ลงมือปลูกข้าวพร้อมกัน 1 พ.ค.

เพิ่มระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่ 17 เม.ย. ส่งผลให้ชาวนา 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ลงมือปลูกข้าวพร้อมกัน 1 พ.ค.

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลฯ เตรียมแผนปลูกพืชฤดูฝนในเขตชลประทาน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 12 ทุ่ง จะให้เริ่มทำนาวันที่  1 พ.ค.2561 ดังนั้นจะเริ่มส่งน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. นี้ เพื่อเตรียมให้เกษตรกรทำนาในต้นเดือน พ.ค. โดยฤดูกาลเพาะปลูกปี 2561 ในพื้นที่ชลประทานจะส่งน้ำให้การเกษตร 25 ล้านไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวนาปี 17 ล้านไร่ และพืชอื่น ไม้ยืนต้น 8 ล้านไร่ เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งนี้ วันที่ 30 เม.ย. 2561 คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั่วประเทศ 46% ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา จะเหลือน้ำใช้การได้ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จะมีช่องว่างรับน้ำฝนได้เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน

ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยากรณ์สภาพฝนปีนี้ว่าอยู่ในค่าเฉลี่ยปกติ แต่ปีที่แล้วมีฝนตกมากกว่าค่าปกติถึง 28% โดยได้เตรียมแผนบริหารความเสี่ยงไว้ด้วยมี 2 แผน คือ การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนในการป้องกันบรรเทาอุทกภัย และแผนรับน้ำหลากซึ่งจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งหลังเก็บเกี่ยวเป็นแก้มลิงรับน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาร่วม 1.15 ล้านไร่ สามารถเก็บน้ำได้  1,500 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อน ทั่วประเทศ ณ วันที่ 4 เม.ย. 2561 มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวม 50,428 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ของความจุอ่าง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 26,508 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 51%  มากกว่าปี 2560 จำนวน 6,985 ล้าน ลบ.ม.  สามารถรับน้ำได้อีก 25,507 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับ 4 เขื่อนหลัก คือ อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ รวม 4 อ่างมีปริมาตรน้ำในอ่าง 14,957 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60%  ปริมาตรน้ำใช้การได้ 8,261 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 45% สามารถรับน้ำได้อีก 9,914 ล้าน ลบ.ม.  อย่างไรก็ตามกรมชลฯ จะสำรองน้ำสำหรับฝนทิ้งช่วงเดือน ก.ค. -ก.ย.  ประมาณ 1  หมื่นล้าน ลบ.ม.