posttoday

รฟท.หลังแอ่นโอทีพุ่งวอนปลดล็อกเพิ่มคน

06 เมษายน 2561

รฟท.โอดแบกค่าโอที ปีละ 750 ล้าน เหตุพนักงานน้อย เดินหน้าปลดล็อกมติ ครม.รับสมัครเพิ่ม หวั่นกระทบรถไฟทางคู่

รฟท.โอดแบกค่าโอที ปีละ 750 ล้าน เหตุพนักงานน้อย เดินหน้าปลดล็อกมติ ครม.รับสมัครเพิ่ม หวั่นกระทบรถไฟทางคู่

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รอง ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรรถไฟส่งผลให้ปัจจุบัน รฟท.ต้องแบกรับภาระค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) กว่าปีละ 750 ล้านบาท  ขณะที่มีพนักงานประมาณ 10,300 คน และมีพนักงานรับจ้าง 4,000 คน โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติการสูงถึง 6 วัน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง (ชม.) ซึ่งเป็นปริมาณการทำงานที่สูงมาก จึงอยากให้เร่งปลดล็อกการรับพนักงาน เนื่องจากต้องการให้เพิ่มสัดส่วนพนักงานจริงทั้งหมดเป็น 1.4 หมื่นคน และพนักงานรับจ้าง 2,000 คน เพราะหากโครงการรถไฟทางคู่ระยะแรกแล้วเสร็จในปี  2564-2565 อาจทำให้ต้องปิดบางเส้นทางเพื่อนำบุคลากรมารองรับโครงการรถไฟทางคู่ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคนไม่เพียงพอ

"ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านค่าโอทีคิดเป็น 25% ของเงินเดือนพนักงานทั้งองค์กรปีละ 3,000 ล้านบาท หรือค่าตอบแทน โอทีพนักงานปีละ 750 ล้านบาท ประเมินว่าหากยังไม่สามารถรับพนักงานใหม่เพิ่มได้ เมื่อรถไฟทางคู่เฟสแรกเสร็จปี  2564-2565 ปัญหาขาดพนักงานจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตอาจจำเป็นต้องพิจารณาปิดเส้นทาง เพื่อนำมาเกลี่ยปฏิบัติงานในเส้นทางที่จำเป็นต่อการให้บริการ" นางสิริมา กล่าว

ด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม  กล่าวว่า  กระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนฟื้นฟู รฟท.ให้คณะอนุกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หลายครั้ง และทราบในเบื้องต้นว่าภายใน 1 เดือนหรือภายในเดือน พ.ค.นี้ จะมีการจัดประชุมใหญ่ของ คนร. ซึ่งจะมีการเสนอแผนขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 ที่กำหนดให้รับพนักงานด้านการปฏิบัติการได้ในสัดส่วน 5% ของพนักงานเกษียณอายุ

  
อย่างไรก็ตาม หากได้รับการอนุมัติจะเสนอ ครม.พิจารณาในทันที เพราะในอนาคต รฟท.ต้องบริหารทั้งโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด)

สำหรับแผนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง ที่ใช้เพื่ออบรมวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีระบบราง ทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดให้จัดตั้งได้ภายในปีนี้พร้อมกรมการขนส่งทางรางที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลด้านระบบราง โดยทั้งสองหน่วยงานจะขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคม