posttoday

ยันรัฐเสียประโยชน์อุ้มมือถือ

05 เมษายน 2561

ทีดีอาร์ไอยืนยันรัฐไม่ควรออกมาตรา 44 อุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคม โชว์กำไรอู้ฟู่ ยันรัฐเสียประโยชน์ "วิษณุ" เลื่อนถก รอนัดใหม่

ทีดีอาร์ไอยืนยันรัฐไม่ควรออกมาตรา 44 อุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคม โชว์กำไรอู้ฟู่ ยันรัฐเสียประโยชน์ "วิษณุ" เลื่อนถก รอนัดใหม่

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า รัฐบาลและ กสทช.ไม่มีเหตุผลที่ต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งสองราย ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (ทรู) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (เอไอเอส) ในการขยายงวดการชำระเงินงวดที่ 4 เพราะประเทศ ไม่ได้ประโยชน์และทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุน

"การเสนอมาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งสองราย มองว่า กสทช.จับประเด็นประโยชน์สาธารณะผิดและนำเสนอข้อมูลไม่ สมเหตุสมผล เนื่องจากผลประกอบการยังดีอยู่" นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ พบว่าในปี 2560 เอไอเอสมีกำไร 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทรูมีกำไร 2,300 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าทรูจะมีกำไร ไม่มาก แต่มีการเติบโตทางรายได้รวดเร็ว จากกลางปี 2558 ทรูมีส่วนแบ่งตลาด 18.8% ขณะที่ในไตรมาส 2 ของปี 2560 ทรูมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 26% นอกจากนี้เอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงทางธุรกิจเป็นปกติ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับกรณีดิจิทัลทีวีมีความเหมาะสมที่รัฐจะให้การช่วยเหลือได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐเองคือ กสทช. ดังนั้น กระบวนการช่วยเหลือ ควรแยก 2 เรื่องออกจากกัน

นอกจากนี้ ในประเด็นที่ กสทช.ชี้แจงว่า การคิดดอกเบี้ย 1.5% รัฐจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ย เป็นคำกล่าวที่ไม่เป็นความจริง เพราะรัฐมีต้นทุนในการให้เอกชน กู้เงินและอัตรา 1.5% เป็นอัตราต่ำกว่าต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล ส่วนการยืดระยะเวลาการชำระเงิน ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ในปีนี้มากขึ้น เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ การจะมีผู้เข้าประมูลมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขที่รัดกุมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ส่งเอกสารชี้แจงรัฐบาลทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้ให้เป็นดุลพินิจของรัฐบาลในการพิจารณา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เลื่อนการนัดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลออกไป และจะดำเนินการได้ทันภายในเดือนนี้หรือไม่ยังไม่ทราบ แต่จะเร่งพิจารณาโดยเร็วที่สุด

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากความพยายามของฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล และ กสทช. เพื่อหาช่องทางใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ยืดจ่ายค่างวดคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปอีก 5 ปี ของบริษัทโทรคมนาคม 2 รายนั้น ไม่เพียงจะเป็นการอุ้มเอกชน หรือเศรษฐีซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทาน และเก็บประโยชน์จากประชาชน หรือผู้ใช้บริการ แต่เอกชนรายหนึ่งยังเป็นบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้น เป็นเจ้ากิจการด้วย เป็นการดำเนินการที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย