posttoday

ไฮสปีดเนื้อหอมเกาหลีจ่อลงทุน

30 มีนาคม 2561

เกาหลีสนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มควบรถไฟฟ้าสนามบิน มูลค่า 3.7 หมื่นล้าน เชื่อรัฐบาลต้องจ่ายเงินอุ้มเอกชนไฮสปีด

เกาหลีสนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มควบรถไฟฟ้าสนามบิน มูลค่า 3.7 หมื่นล้าน เชื่อรัฐบาลต้องจ่ายเงินอุ้มเอกชนไฮสปีด

นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทจากเกาหลีสนใจเข้ามาลงทุนงานระบบ อาทิ งานระบบไฟฟ้า การจัดหารถ รวมถึงงานซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก-ตะวันออก ช่วงมีนบุรี-ตลิ่งชัน ซึ่งมีมูลค่าลงทุนราว 3.2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงต้นปี 2562 ในรูปแบบการลงทุนจะเข้ามาจับคู่กับบริษัทไทย

แหล่งข่าวจากบริษัท เรืองณรงค์ เปิดเผยว่า หลังจากชนะประมูลโครงการระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า IRTI ขณะนี้ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับบริษัทจากเกาหลี เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรเตรียมเดินหน้าเข้าลงทุนในโครงการรัฐบาล เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านงานระบบรถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนเชื่อมต่อการเดินทาง โดยเฉพาะโครงการเอพีเอ็มวงเงิน 5,000 ล้านบาท ของสนามบินดอนเมืองเฟส 3 ซึ่งเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารแบบไม่มีคนขับ โดยเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าและอาคารผู้โดยสารแต่ละแห่ง ส่วนความเป็นไปได้ที่ทางบริษัทเกาหลีจะเข้ามาลงทุนแบบร่วมทุนหรือกิจการร่วมค้าหรือไม่นั้นคงต้องหารือกันต่อไป

นายลี จุง โฮ ประธานผู้บริหาร อินชอน ทรานซิท คอร์เปอร์เรชั่น กล่าวว่า บริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่หลากหลายด้านการบริหารรถไฟฟ้าทั้งด้านรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบินอินชอน (Maglev Train) รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีและรถไฟฟ้ารางเบาหลายสายในเมืองอินชอนและโซล ตลอดจนระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะทั้งรถเมล์ปรับอากาศและรถเมล์ล้อยาง (บีอาร์ที) รวมถึงสถานีขนส่งอีกด้วย

สำหรับเอ็มโอยูกับบริษัท เรืองณรงค์ และเคทีที คอลซัลแตนซ์ เป็นความร่วมมือครั้งแรกของอินชอน ทรานซิท ที่จะนำประสบการณ์ที่ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน รถเมล์ รถแท็กซี่ รวมถึงงานวิจัยต่างๆ เพื่อนำมาจัดฝึกอบรมในการพัฒนาบุคลากร และถ่ายทอดเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมระบบรางของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาครัฐบาลของไทยได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังกล่าว ซึ่งมองว่าถือเป็นทิศทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในประเทศไทย ไม่แตกต่างจากประเทศเกาหลีที่รัฐบาลจำเป็น ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้บริษัทเอกชน ที่เข้ามาบริหาร เพราะในช่วงแรกรายจ่ายจะมากกว่ารายได้ค่าโดยสารอยู่มาก รัฐ ต้องทำหน้าที่อุดหนุนให้โครงการสามารถอยู่ได้

ภาพประกอบข่าว