posttoday

จ่อรื้อสูตรราคาน้ำมัน

28 มีนาคม 2561

พลังงานเตรียมปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่หวังหั่นราคาน้ำมันลดลง ขณะที่เบรกรับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนใหม่ยาว 5 ปี

พลังงานเตรียมปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่หวังหั่นราคาน้ำมันลดลง ขณะที่เบรกรับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนใหม่ยาว 5 ปี

นายศิริ  จิระพงษ์พันธ์  รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการ ปรับสูตรโครงสร้างการคิดคำนวณราคาเชื้อเพลิงหน้าโรงกลั่นใหม่ โดยมอบ หมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษาข้อมูล และจะหารือกันอีกครั้งในการประชุม กบง.วันที่ 5 เม.ย.นี้

ทั้งนี้ ราคาใหม่จะสะท้อนค่าการตลาดและส่งผลไปยังราคาขายปลีกน้ำมัน โดยจะมีการตัดสูตรการบวกราคาพรีเมียมออกไปจากการคำนวณ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันปรับตัวลดลง แต่จะลดลงเท่าไรนั้นต้องขึ้นอยู่กับผลการประชุมอีกครั้ง โดยสาเหตุที่ต้องปรับโครงสร้าง เพราะตลาดการค้าน้ำมันสำเร็จรูปมีการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันสูงขึ้น

สำหรับนโยบายยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทแก๊สโซฮอล์ 91 นั้น มองว่ายังไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการในขณะนี้ เพราะเชื่อว่ากลไกตลาดจะเป็นผู้ตัดสินว่า ผู้บริโภคยังมีความต้องการจะใช้น้ำมันชนิดนี้ต่อไปหรือไม่  แต่ถ้ามีความต้องการใช้ลดลงผู้ค้าจะพิจารณาถึงความเหมาะสมในการจำหน่ายเอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงระยะ 5 ปี ทั้งรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) และรายเล็กมาก (วีเอสพีพี) เนื่องจากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบเพียงพอกับความต้องการใช้ และที่ผ่านมาการส่งเสริมจากรัฐทั้งในรูปแบบระบบเงินเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และระบบฟีดอินทาริฟ มีผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-25 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย  จึงไม่จำเป็นต้องหาพลังงานทดแทนมาเสริม ประกอบกับต้องการชะลอเพื่อดูทิศทางเทคโนโลยีของพลังงานทดแทนที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาต่ำลง และอาจจะไม่แพงไปกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน

"ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ ยกเว้นโครงการที่มีความสามารถที่จะขายไฟฟ้าไม่แพงกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายส่งที่ระดับ 2.40 บาท/หน่วย หรือต่ำกว่า และโครงการที่จะส่งเสริมความมั่นคงให้ชุมชน เช่น ชีวมวล 300 เมกะวัตต์ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนกรณีที่เงินลงทุนในพลังงานทดแทนปีนี้จะลดลงไป แต่หากการลงทุนนั้นมาเป็นภาระประชาชนผมคิดว่าเราไม่ ควรสนับสนุน" นายศิริ กล่าว

ทั้งนี้ กรณีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาบ้านแบบ เสรี (โซลาร์รูฟท็อปเสรี) นั้น หากจะ ผลิตเองใช้เองภาครัฐไม่ได้ปิดกั้น แต่หากจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ยอมรับว่า ขณะนี้มีข้อจำกัดด้านความพร้อม ของสายส่งไฟฟ้าที่จะกระจายให้ทั่วถึง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติมให้เป็น สมาร์ทกริดที่จะมีทั้งระบบกักเก็บพลังงาน (อีเอสเอส) ด้วย แต่ถ้าผลิตแล้วราคา ต่ำกว่าราคาขายส่งของ กฟผ.ภาครัฐยินดีสนับสนุน ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้นคงต้องรอการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่จะเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้

ภาพประกอบข่าว