posttoday

ส่งออกเหล็กร่วง45%

23 มีนาคม 2561

คาดกระทบส่งออกเหล็กไปสหรัฐลดลง 35-45% ผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบเร่งขอยื่นเว้นเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมรายพิกัด

คาดกระทบส่งออกเหล็กไปสหรัฐลดลง 35-45% ผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบเร่งขอยื่นเว้นเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมรายพิกัด

นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยกำลังประสานผู้นำเข้าสหรัฐให้ยื่นยกเว้นเก็บอากรนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นรายพิกัด หลังจากกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐได้ออกประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผล กระทบจากการใช้มาตรา 232 (เพื่อความมั่นคง) กับสินค้าที่จะเรียกเก็บอากรนำเข้าจากทั่วโลกในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ โดยจะมีผลบังคับใช้ วันที่ 23 มี.ค.นี้ สามารถยื่นขอยกเว้นการใช้มาตรา 232 ได้

ทั้งนี้ ตามประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้บุคคลหรือองค์กรที่ใช้สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมเพื่อธุรกิจในสหรัฐ เช่น ก่อสร้าง โรงงาน หรือผู้จัดหาให้ผู้ใช้มีสิทธิยื่นขอยกเว้นตามประกาศ และกำหนดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือผู้คัดค้านสามารถโต้แย้งการขอยกเว้นได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ที่มีการยื่นขอยกเว้น ส่วนการพิจารณาว่าจะได้รับการยกเว้นให้หรือไม่ขึ้นอยู่กับสินค้าชนิดนั้นมีการผลิตในสหรัฐว่าเพียงพอหรือไม่ หรือสินค้าที่ผลิตภายในไม่มีคุณภาพเพียงพอ

สำหรับเหล็กและอะลูมิเนียมที่ไทยจะประสานให้ผู้นำเข้ายื่นขอยกเว้นมีทั้งรายพิกัดและรายบริษัท โดยพิกัดเหล็กที่ไทยจะยื่นขอยกเว้น ได้แก่ ท่อ แผ่นเหล็กรีดเย็น และสเตนเลส (ไร้สนิม) โดยสินค้าบางรายการสหรัฐมีกำลังการผลิตเพียงพอ แต่โรงงานอาจจะไม่ผลิตด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สำนักงาน ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ได้ประเมินผลกระทบตามมาตรา 232 ในการเก็บอากรนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่มีผลต่อไทย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์โลหะเหล็กที่สำคัญเข้าข่ายเสียภาษี ได้แก่ เหล็กรีดทรงแบน มีมูลค่าการนำเข้าในปี 2560 ประมาณ 113.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่อเหล็กแบบกลวง มูลค่า 92.12 ล้านดอลลาร์ ท่อเหล็กใช้ในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 55.96 ล้านดอลลาร์ ท่อเหล็กไร้สนิม มูลค่า 37.88 ล้านดอลลาร์ และอะลูมิเนียมแผ่น มูลค่า 17.44 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม หลังจากมาตรการเก็บอากรนำเข้าดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากไทยลดลง หากประเมินตามโควตาการนำเข้าโลหะทั้งสองชนิด ในปี 2561 คาดว่าการนำเข้าจะลดลง 35-45% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากไทยเมื่อปีที่ผ่านมามูลค่าประมาณ 200-250 ล้านดอลลาร์