posttoday

ไฟเขียวขยายน่านฟ้ารองรับธุรกิจเดินอากาศขยายตัวเร็วขึ้น

14 มีนาคม 2561

ครม.เห็นชอบทบทวนนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ ยกเลิกกำหนดพื้นที่ตายตัว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล

ครม.เห็นชอบทบทวนนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ ยกเลิกกำหนดพื้นที่ตายตัว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ ทั้งนี้ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ทบทวนกลไกการบริหารจัดการห้วงอากาศตามร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ เพื่อประกาศใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศ ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย คณะกรรมการการบินพลเรือน เสนอ ทั้งนี้จะทำให้การขยายตัวของธุรกิจเดินอากาศขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและสอดคล้องกับสากล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาห้วงอากาศของไทยมีการกำหนดพื้นที่ห้ามบิน ทั้งพื้นที่หวงห้าม ประมาณ   50% ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด 777,760 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้การขยายตัวเชิงพาณชิย์ทำได้ลำบาก การที่ ครม.อนุมัติครั้งนี้จะเป็นการปลดล็อกทั้งหมดที่เป็นอุปสรรค โดยใช้หลักสากลที่เรียกว่าหลักยืดหยุ่น โดยยึดแนวความคิดของการบริหารจัดการจราจรทางอากาศแบบยืดหยุ่น (Flexible Uses of Airspace : FUA) และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระบบการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ)

อย่างไรก็ตาม โดยหลักของ FUA เป็น หนึ่งในการพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการจราจรทางอากาศ โดยมีหลักการคือห้วงอากาศไม่ควรกำหนดให้เป็นพื้นที่ตายตัว เช่น พื้นที่หวงห้าม  พื้นที่จำกัด และพื้นที่อันตราย โดยต้องออกแบบและจัดการห้วงอากาศตามความต้องการของผู้ใช้แรงงานในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คณะกรรมการการบินพลเรือน จะทำหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินการบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศในระดับนโยบายแทนการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติชุดใหม่ และให้คณะกรรมการการบินพลเรือน พิจารณาแต่งตั้งกลไกการขับเคลื่อนนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติ ในระดับยุทธการและระดับปฏิบัติการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับร่างนโยบายห้วงอากาศแห่งชาติมีนโยบายเฉพาะ อาทิ 1.พัฒนากฎหมายห้วงอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย 2.พัฒนาบุคลากรทั้งด้านความมั่นคงและพลเรือนให้มีความพร้อมสำหรับรองรับการเติบโตของกิจการการบินและพัฒนาทางเทคโนโลยีในอนาคตเพื่อให้ระบบการบินของประเทศทั้งกิจการการบินของภาคความมั่นคงและการบินพลเรือนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

3.เสริมสร้างขีดความสามารถ การรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์เพื่อป้องกันการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 4.บูรณาการการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกันระหว่างกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการการบินพลเรือน หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง

และ 5.ส่งเสริมให้มีการวางแผนและลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ ห้วงอากาศ และอวกาศการเดินอากาศ การบริหารการจราจรทางอากาศเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับมาตรฐานของไอเคโอ