posttoday

กล่อม3ชาติลดกรีดยาง ไทยนำหารือ4ประเทศแก้ปัญหา เสนอตั้งคณะกรรมการกำหนดราคา

03 มีนาคม 2561

"กฤษฎา" ดึงผู้ผลิตรายใหญ่ร่วมลดกรีดยาง ขณะที่มาตรการลดปริมาณส่งออกช่วยดันราคาขยับขึ้นเล็กน้อย

"กฤษฎา" ดึงผู้ผลิตรายใหญ่ร่วมลดกรีดยาง ขณะที่มาตรการลดปริมาณส่งออกช่วยดันราคาขยับขึ้นเล็กน้อย

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับประเทศผู้ผลิตยาง 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตอบรับเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 4 โดยจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในการประชุมภาคียางระหว่างประเทศปลายปี 2561

ทั้งนี้ ได้หารือถึงความคืบหน้ามาตรการควบคุมการส่งออกยางของไตรภาคี 3.5 แสนตัน ในช่วง 3 เดือน ม.ค.-มี.ค. 2561 ซึ่งทุกประเทศได้มีการดำเนินการตามข้อตกลง ส่งผลให้ราคายางขยับขึ้นมาเล็กน้อยจากราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 44 บาท/กก. เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่มีมาตรการ ล่าสุด ณ วันที่ 2 มี.ค.ราคาอยู่ที่ 48 บาท/กก. โดยการดำเนินมาตรการยังเหลือ 1 เดือน คาดว่าแนวโน้มน่าจะดีขึ้น

"ส่วนจะขยายเวลาการลดส่งออกอีกหรือไม่ ทุกประเทศขอให้จบ 3 เดือนนี้ก่อน เพราะต้องพิจารณาระบบธุรกิจที่มีการซื้อขายด้วย นอกจากนั้นในที่ประชุมไทยได้เสนอว่าควรจะตั้งกรรมการกำหนดราคายางและราคาส่งออกด้วยเพื่อดูแลเกษตรกร ซึ่งผู้แทนแต่ละประเทศขอรับไปหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แจ้งกับที่ประชุมว่า ในส่วนของไทยได้เตรียมตั้งกรรมการดังกล่าวโดยมีตัวแทนจากรัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร" นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้ชักชวนให้แต่ละประเทศร่วมกันบริหารปริมาณผลผลิตยางของโลกให้สมดุลกับความต้องการใช้ของโลก เพราะในอนาคตยังไม่ทราบว่าอีก 10 ปีข้างหน้าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร โดยได้เสนอมาตรการของไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเลือกการหยุดกรีดยาง 3 เดือน 3 ล้านไร่ หรือกรีดเดือนละ 15 วัน ในประเด็นนี้ประเทศอินโดนีเซียสนใจ และที่ประชุมก็พยายามหาความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว

สำหรับมาตรการชักชวนให้หยุดกรีดนั้น กระทรวงอยู่ระหว่างการคำนวณอัตราชดเชยให้เกษตรกร มี 2 แนวทาง คือ 1.ลดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ระยะเวลา 3 เดือน จะสามารถลดซัพพลายได้ 2.5 แสนตัน โดยมีมาตรการชดเชยให้เกษตรกรรายละ 4,500 บาท/ไร่  2.มาตรการระยะยาวทั้งปี จะลดกรีดยาง 15 วัน หยุด 15 วัน ตลอดทั้งปี ทั้งนี้อยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาดที่ชัดเจน รวมถึงงบประมาณรองรับในระหว่างที่เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ หลายฝ่ายเห็นว่าการหยุดกรีด 3 ล้านไร่ น่าจะเหมาะสม ขณะที่งบประมาณจะมอบให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาดำเนินการ

นอกจากนั้น ที่ประชุมไทยได้ชี้แจงถึงมาตรการที่รัฐบาลไทยดำเนินการเพื่อใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น เช่น นโยบาย สนับสนุนเอสเอ็มอีพัฒนาสินค้านวัตกรรมใช้ยางพาราเพิ่ม การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เอกชนแปรรูปยางและการใช้ยางพาราในโครงการของรัฐบาล 1.8 แสนตันภายในเดือน ก.ย. 2561 โดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะใช้ยางมากที่สุดประมาณ 7-8 หมื่นตัน โดยมี 2 จังหวัดนำร่องไปแล้ว คือ จ.สงขลา และบึงกาฬ

บรรยายภาพ -  ประชุมร่วมมือผู้ผลิตยาง 4 ประเทศ : กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมกับประเทศผู้ผลิตยาง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยการประชุมได้มีการตอบรับเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 4 ขณะเดียวกันไทยได้ชักชวนให้แต่ละประเทศร่วมกันบริหารปริมาณผลผลิตยางของโลกให้สมดุลกับความต้องการใช้ของโลก