posttoday

เงินสะพัดฐานราก5หมื่นล้าน

28 กุมภาพันธ์ 2561

เกษตรประชารัฐดันเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานราก 5.4 หมื่นล้าน หลังใช้งบ 1.97 หมื่นล้าน สร้างงานชุมชน

เกษตรประชารัฐดันเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานราก 5.4 หมื่นล้าน หลังใช้งบ 1.97 หมื่นล้าน สร้างงานชุมชน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการเกษตรประชารัฐ (โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนเดิม) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่ามีการดำเนินโครงการใน 9,101 ชุมชน ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 แห่ง และเครือข่าย 8,219 แห่ง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.56 ล้านราย

ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิดโครงการของชุมชน 2.41 หมื่นโครงการ สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นแรงงาน 2.25 ล้านราย เฉลี่ยรายละ 4,400 บาท และพบว่า 80.78% ของโครงการในชุมชนสามารถสร้างรายได้หรือผลประโยชน์กลับมาให้โครงการ 195,200 บาท/โครงการ หรือ 21.76% ของงบสนับสนุนเฉลี่ย 897,130 บาท/โครงการ

"โครงการนี้ได้ส่งผลให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานราก 5.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.73 เท่า จากงบประมาณที่ชุมชนเบิกจ่าย 1.97 หมื่นล้านบาท" นายณัฐพร กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคการใช้ยางพาราในโครงการของรัฐงบประมาณ 2561 โดยกรมบัญชีกลางสรุปว่าให้หน่วยงานรัฐสามารถระบุในทีโออาร์การจัดซื้อจัดจ้าง ให้สามารถซื้อยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือซื้อจากองค์กรเกษตรกรที่จะซื้อยางใหม่จากเกษตรกรได้เช่นกัน ไม่ถือว่าเป็นการล็อกสเปกแต่อย่างใด

"ทาง รมว.มหาดไทย รับทราบใน ที่ประชุม ครม.และรับไปดำเนินการ เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาเป้าหมายการซื้อยางหลักหมื่นตันต่อเดือน แต่สามารถซื้อได้เพียงหลักพันตันต่อเดือนเท่านั้น ไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายซื้อประมาณ 2 แสนตันภายใน ก.ย. 2561" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

สำหรับเป้าหมายการใช้ยางของหน่วยงานรัฐ 20 หน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ากรมอื่นๆ ได้มีการซื้อยางตามที่กรมบัญชีกลางได้มีการทำหนังสือเวียนออกไป แต่ส่วนขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ซื้อน้อย ทำให้เป้าหมายการซื้อยางไม่เป็นไปตามคาด