posttoday

เร่งใช้ยางโครงการรัฐ นายกฯกำชับทุกส่วนราชการดำเนินการ หลังใช้ไปเพียง3พันตัน

24 กุมภาพันธ์ 2561

"กฤษฎา" กระตุ้นทุกกระทรวงเร่งรัดแผนการใช้ยางโครงการรัฐ 2 แสนตัน ปี 2561 พร้อมเกาะติดปัญหาและอุปสรรค

"กฤษฎา" กระตุ้นทุกกระทรวงเร่งรัดแผนการใช้ยางโครงการรัฐ 2 แสนตัน ปี 2561 พร้อมเกาะติดปัญหาและอุปสรรค

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกส่วนราชการไปเร่งรัดแผนการใช้ยางพาราในโครงการของรัฐ 2 แสนตัน ในปีงบประมาณ 2561 และมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ติดตามและแก้ไขอุปสรรคเพื่อให้มีการใช้ยางต่อเนื่อง รวมทั้งให้นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ เป็นหัวหน้าทีมประสานข้อมูลความต้องการใช้ยางของทุกกระทรวงเพื่อนำมาวางแผนในงบประมาณปี 2562

ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลเดินหน้าช่วยเหลือชาวสวนยางเต็มที่ โดยมีทั้งนโยบายลดพื้นที่การปลูกยาง และจูงใจเกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทน มีเป้าหมาย 1.5 แสนไร่ และกำลังมีแนวคิดให้หยุดกรีดยาง 3 เดือน 3 ล้านไร่ โดยรัฐชดเชยรายได้ให้ 4,500 บาท/ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมความเห็น

"จากการขับเคลื่อนตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ราคายางวันนี้ขึ้นมา 47 บาท/กก. จากตอนที่เริ่มเข้าอยู่ที่ 42 บาท และหลังตรุษจีนนี้คาดว่ากำลังซื้อจะเข้ามา" นายกฤษฎา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย คมนาคม ศึกษาธิการ ถึงแผนการใช้ยางในโครงการ โดยเฉพาะการนำไปใช้พัฒนาถนน ที่ใช้พาราซอยซีเมนต์มากถึง 12-18 ตัน/กิโลเมตร (กม.) และสนามฟุตซอล เป็นต้น  เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ยางเพียง 3,000 ตันเท่านั้น จากเป้าหมาย 2 แสนตัน ในปีงบประมาณ 2561

นายลักษณ์ รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า รัฐบาลจะขับเคลื่อนการใช้ยางพาราในภาครัฐเต็มที่ นอกจากใช้ 2 แสนตัน ปี 2561 แล้ว ในปี 2562 นายกฯ กำชับในที่ประชุม ครม.ให้ส่งตัวเลขการใช้ยางของทุกกระทรวงให้กระทรวงเกษตรฯ ใครไม่ดำเนินการถือว่าขัดกับนโยบาย

สำหรับแผนระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดทำโครงการถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เพื่อเป็นถนนต้นแบบของแต่ละชุมชน เบื้องต้น นายกฯ ได้จัดสรรงบกับกรมชลประทานเพิ่มเติม 3,500 ล้านบาท เป็นงบปี 2561 ทำถนนคันคลองชลประทานด้วยยางพารา

อย่างไรก็ดี ในประเด็นการให้เอกชนบริหารจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (เงินเซส) นั้น ล่าสุด รมว.เกษตรฯ เตรียมลงนามในหนังสือถึง พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมบริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อรับทราบความห่วงใยของเกษตรกรทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ภาคเอกชนเก็บเงินเซส พร้อมทำหนังสือถึงผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว

ด้าน นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาเครือข่ายเกษตรกรสวนยาง กล่าวว่า เครือข่ายจะร่วมตัวประท้วงคัดค้านเรื่องนี้ที่ กยท.ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เพราะไม่เห็นด้วย อีกทั้งที่ผ่านมาผู้ว่า การกยท.ชี้แจงไม่หมด ทั้งนี้การจัดเก็บเงินเซส  ทาง กยท.สามารถดำเนินการได้โดยลงทุนแค่เครื่องชั่งตัวละล้านกว่าบาท แต่หากจ้างเอกชนเข้ามาบริหารคิดค่าบริหาร 5% ของรายได้เงินเซสที่เก็บได้ปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีเอกชนเข้ามาซื้อซองประกวดราคาแล้ว 4 ราย โดยเรื่องนี้เครือข่ายเกษตรกรสวนยางจะติดตามว่าทั้งหมดเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่