posttoday

ส่อพับแผนเชื่อมทางด่วนโทลล์เวย์-ศรีรัช

19 กุมภาพันธ์ 2561

การทางพิเศษฯส่อพับแผนเชื่อมทางด่วนมิสซิ่งลิงก์โทลล์เวย์-ศรีรัช 6.2 พันล้าน หลังติดปมอีไอเอ-ส่งมอบพื้นที่

การทางพิเศษฯส่อพับแผนเชื่อมทางด่วนมิสซิ่งลิงก์โทลล์เวย์-ศรีรัช 6.2 พันล้าน หลังติดปมอีไอเอ-ส่งมอบพื้นที่

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการ ก่อสร้างทางเชื่อมโครงข่ายทางยกระดับ อุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร (Missing Link) ระยะทาง2.6กม.วงเงิน 6.2 พันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจราจรและเชื่อมต่อระบบโครงข่ายทางด่วนของเมืองหลวงนั้นล่าสุดยังไม่สามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

เนื่องจากยังติดความล่าช้าหลายอย่างทั้งด้านร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์) ที่ยังไม่แล้วเสร็จประกอบกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (สผ.) จนมีแนวโน้มว่าโครงการดังกล่าวอาจต้องยกเลิกแผนก่อสร้างไปพร้อมกับดำเนินการศึกษาแนวทางใหม่ทั้งหมดเพื่อเชื่อมทางด่วนMissing Link ระหว่าง ทางยกระดับ อุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เนื่องจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขให้กทพ.ต้องเปิดหน้างานก่อสร้างโครงการภายในต้นเดือนมี.ค.นี้ ก่อนที่ผู้รับเหมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างในบริเวณดังกล่าวภายในเดือนสิ้นมี.ค. นี้ หากผู้รับเหมาสายสีแดงเข้าพื้นที่แล้วจะส่งผลให้ไม่สามารถก่อสร้างเสาตอม่อทางด่วนดังกล่าวได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนกัน

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าเมื่อดูจากห้วงเวลาดังกล่าวแล้วคงเป็นเรื่องยากที่จะก่อสร้างให้ได้ตามเวลาที่กำหนดช่วงต้นเดือนมี.ค. เนื่องจากโครงการยังไม่ผ่านครม.โดยมีเงื่อนไขว่าหากจะส่งมอบให้ครม.เห็นชอบจำเป็นต้องทำหนังสือไปยัง 5 ฝ่าย ทั้ง บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จํากัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะขั้นตอนการผ่านความเห็นชอบอีไอเอที่ต้องเร่งทำควบคู่กันไปด้วยเพื่อเริ่มงานก่อสร้าง

อย่างไรก็ตามล่าสุดกทพ.ได้ส่งรายละเอียดโครงการไปยังสำนักงานนโยบายและ แผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

ทั้งนี้ผลคาดการณ์ปริมาณการจราจรในเส้นทางด่วนเชื่อมต่อดังกล่าวนั้นน่าจะอยู่ที่ราว 50,000-60,000 คันต่อวัน ทั้งนี้หากโครงการทางด่วนมิสซิ่งลิงก์ยกเลิกไปนั้นต้องกลับไปนับหนึ่งเริ่มกันใหม่โดยสนข.ต้องกลับไปศึกษาเส้นทางเชื่อมต่อแนวใหม่รวมถึงความเหมาะสมด้านความคุ้มค่าก่อนเรียกเอกชนทั้งสองรายมาเจรจากันอีกครั้งเพื่อลงทุนก่อสร้างควบคู่ไปกับการรายงานผลการยกเลิกโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม