posttoday

"อาคม"สั่งนำร่องหัวรถจักรไฟฟ้า 4 เส้นทางหัวเมืองหลัก

16 กุมภาพันธ์ 2561

ผุดรถไฟพรีเมี่ยมย่นเวลาเดินทางกรุงเทพ-เชียงใหม่เหลือ 3 ชั่วโมง พ่วงตั๋วชั้นธุรกิจ"อาคม"สั่งนำร่องหัวรถจักรไฟฟ้า 4 เส้นทางหัวเมืองหลัก

ผุดรถไฟพรีเมี่ยมย่นเวลาเดินทางกรุงเทพ-เชียงใหม่เหลือ 3 ชั่วโมง พ่วงตั๋วชั้นธุรกิจ"อาคม"สั่งนำร่องหัวรถจักรไฟฟ้า 4 เส้นทางหัวเมืองหลัก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังจากเข้ามอบนโยบายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ว่าตนได้เข้ามอบแนวทางในการพัฒนาบทบาทของรฟท.หลังผ่านแผนฟื้นฟูกิจการแล้วโดยเฉพาะแผนการลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจในระยะยาวโดยเน้นรูปแบบการบริการที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ผู้โดยสาร ตนจึงได้สั่งการให้รฟท.ไปดำเนินการปรับรูปแบบตั๋วรถโดยสารให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้ในปัจจุบันมากขึ้นโดยเฉพาะการให้บริการรถไฟด่วนพิเศษ รถไฟชานเมือง รถไฟท้องถิ่น ที่จะมีระดับการให้บริการที่ทันสมัยมากขึ้นจึงได้เสนอรูปแบบบริการใหม่ที่จะดึงดูดผู้โดยสารได้ พร้อมทั้งแบ่งระดับการขายตั๋วคล้ายสายการบินคือ ตั๋วโดยสารชั้นธุรกิจ (Business Class) และตั๋วโดยสารชั้นประหยัด (Economy Class) ประกอบด้วย 1.รถไฟพรีเมี่ยม (Premium train) ซึ่งเป็นรถไฟวีไอพีที่เน้นความรวดเร็วในการเดินทางและตอบสนองกลุ่มผู้โดยสารเดินทางระยะไกลจากต้นทาง-ปลายทาง ย่นระยะเดินทางจากเดิมมากว่า 70% อาทิเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่และกรุงเทพ-หนองคายที่จากเดิมใช้เวลเดินทาง 13-14 ชั่วโฒง จะลดลงเหลือเพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น 2.รถไฟแบบตั๋วข้ามคืน (Over night train) สำหรับผู้โดยสารที่ไม่ต้องการความรวดเร็วมากแต่เน้นด้านความประหยัดและไม่เสียเวลามากนัก ซึ่งจะเป็นตั๋วรถไฟเที่ยวกลางคืนและถึงปลายทางเมื่อรุ่งเช้าใช้เวลาเดินทางราว 10-12 ขั่วโมง 3.รถไฟระหว่างเมืองซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะโดยใช้ระบบรางเป็นจุดเชื่อมต่อในรูปแบบฟีดเดอร์เช่น ช่วงบุรีรัมย์-สุรินทร์ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และช่วงบุรีรัมย์-อุดรธานี เป็นต้น  4.รูปแบบรถชานเมืองซึ่งจะเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งจากกลางเมืองไปยังชานเมืองเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองในพื้นที่รอบนอกและสร้างเศรษฐกิจฐานราก เช่น โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งปัจจุบันมีโครงข่ายเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครกับพื้นที่รอบนอกประกอบด้วย ทิศเหนือ ช่วงบางซื่อ-รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์-อยุธยา ทิศตะวันตก ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน-ศาลายา-นครปฐม ทิศตะวันออก ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ทิศใต้ ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย-ปากท่อ

นายอาคมกล่าวต่อว่ารฟท.จะยกระดับงานบริการโดยลงทุนติดตั้งระบบหัวรถจักรไฟฟ้าแทนหัวรถจักรดีเซลโดยจะนำร่องก่อน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.กรุงเทพ-โคราช 2.กรุงเทพ-หัวหิน 3.กรุงเทพ-นครสวรรค์ และ4.กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ และคัดเลือกเส้นทางที่จะนำมาศึกษาพัฒนาเพื่อเปิดให้บริการประชาชนเป็นเส้นทางไปซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ และคัดเลือกเส้นทางที่จะนำมาศึกษาเป็นเส้นทางแรก จาก4เส้นทาง รวมถึงการคำนวนค่าก่อสร้างเสาไฟฟ้าที่ใช้เดินรถหัวรถจักรไฟฟ้าด้วย โดยจะใช้การเดินรถบนรางรถไฟเดิม อย่างไรก็ตามด้านการพัฒนาบุคลากรนั้นขณะนี้รฟท.มีแนวโน้มขาดแคลนบุคลากรจำนวน 19,000 คน เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่เฟสต่างๆโดยเฉพาะตำแหน่งพนักงานขับรถและพนักงานซ่อมบำรุง ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเสนอขอแก้มติครม.เดิมเพื่อขยายกรอบการรับอัตรากำลังเพิ่มให้กับรฟท.เนื่องจากของเดิมกำหนดว่าต้องรับพนักงานได้เพียง 5% ของอัตราพนักงานเดิมที่เกษียรไป ส่งผลให้ขาดแคลนบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันรฟท.มีพนักงานจำนวน 10,292 คนและลูกจ้างจำนวน 4,056 คน