posttoday

"กฤษฏา"สั่งสอบหาคนรับผิดทำรัฐต้องจ่ายค่าเสียหายโครงการกล้ายาง

14 กุมภาพันธ์ 2561

รมว.เกษตรฯสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงหาคนละเลยทำให้รัฐเสียหายต้องจ่ายค่าโง่โครงการกล้ายางให้เอกชน

รมว.เกษตรฯสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงหาคนละเลยทำให้รัฐเสียหายต้องจ่ายค่าโง่โครงการกล้ายางให้เอกชน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ว่า  กรณีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯต้องจ่ายค่าเสียหายโครงการกล้ายาง 1 ล้านไร่ปี 2547 ให้กับเอกชน 1.7 พันล้านบาทตามคำสั่งศาลฎีกาว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตรรายงานว่าต้องจ่ายเงิน 287 ล้านบาทบวกดอกเบี้ยเป็น 300  ล้านบาท ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งกรมไม่ขยายเวลาส่งมอบให้และไม่ตรวจรับยางในงวดที่  10  จาก   ตามสัญญาที่ต้องส่งมอบทั้งหมด 10 งวด จำนวน 80 ล้านต้น งบทั้งหมด 1,400  ล้านบาท โดยศาลให้จ่ายเฉพาะค่าเสียหายในสองงวดสุดท้าย  

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในฐานะคู่สัญญาตามกฏหมายไปเจรจากับบริษัทเอกชนเพื่อขอลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามคำสั่งศาล ซึ่งหากทางบริษัทยินยอมก็จะได้นำมาวางศาลและให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรไปตั้งในงบประมาณรายจ่ายปี  2562และ63  เพื่อชดใช้ตามคำสั่งศาล และเพื่อให้มีการดำเนินการกับผู้ที่ทำให้รัฐเสียหาย ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯไปตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาคนรับผิดทางละเมิด ตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539   ว่าใครเป็นคนละเลยทำให้รัฐต้องเสียหายครั้งนี้

สำหรับโครงการที่การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จะจ้างเอกชนดำเนินการ รมว.เกษตรฯ กล่าวว่าได้สั่งการด้วยว่า ให้ผู้ว่ากยท. มาชี้แจงรายละเอียดของโครงการเนื่องจากมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของกยท.ไม่ควรจ้างเอกชน ซึ่งที่ผ่านมา กทย.อ้างว่าเสียประโยชน์ปีละพันล้านบาทเพราะตัวเลขส่งออกไม่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อสถานการณ์ส่อว่าจะมีความไม่โปร่งใสกับการตั้งโครงการ  จึงให้มาชี้แจงก่อนเพราะโดยอำนาจ รมว.เกษตรฯจะก้าวก่ายกยท.มากไม่ได้เพราะบริหารโดยบอร์ดกยท. อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานกยท.ได้มายื่นหนังสือไว้ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว

นายอุทัย สอนหลักทรัยพ์ ประธานเครือสถาบันชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเอกชนเรียก 1.7 พันล้านบาท ไม่ใช่ 300  ล้านบาท เพราะเป็นค่าชื่อเสียงของบริษัทด้วย ซึ่งแกนนำเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือฟ้องกลับบริษัทเอกชน  ในฐานะทำให้เกษตรกรเสียประโยชน์จากการนำยางตาสอยมาส่งให้เกษตรกร ทำให้ผลผลิตไม่ดีมีน้ำยางน้อยอายุ8 ปีจึงกรีดได้ ทำให้ต้นทุนสูง