posttoday

พลังงานเบรกถ่านหิน 'ศิริ'ถอยกรูดสั่งศึกษาใหม่รออีก3ปี ทั้งโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา

03 กุมภาพันธ์ 2561

พลังงานเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไป พร้อมปรับกรอบแผนพีดีพีใหม่ งัด 2 มาตรการเสริมความมั่นคงพลังงาน

พลังงานเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไป พร้อมปรับกรอบแผนพีดีพีใหม่ งัด 2 มาตรการเสริมความมั่นคงพลังงาน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนแผนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง จ.กระบี่ 800 เมกะวัตต์ และเทพา จ.สงขลา 2,000 เมกะวัตต์ และมีมติให้เลื่อนออกไปอีก 3 ปี โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้นจะให้ดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้แล้วเสร็จ

สำหรับโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ต้องศึกษาอีเอชไอเอและอีไอเอเช่นกัน แต่ก่อนจะเริ่มขั้นตอนต้องศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ปัจจุบันและทาง เลือกอื่นควบคู่ไปด้วย โดยกระทรวงจะเสนอแผนเลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าสู่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับปรับปรุงใหม่ มี.ค. 2561

ทั้งนี้ เชื่อว่าผลจากการเลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่ง จะไม่ทำให้สถานการณ์ไฟฟ้าน่าเป็นห่วง แม้ปัจจุบันจะพึ่งพาไฟฟ้าจากส่วนกลาง 460 เมกะวัตต์ คิดเป็น 17% เนื่องจากผลศึกษาแผนพีดีพีฉบับปรับปรุง พบว่า ช่วง 5 ปีข้างหน้าภาคใต้ที่จะยังสามารถรักษาความมั่นคงและระบบไฟฟ้าภาคใต้ หากดำเนินการดังนี้ 1.เพิ่มจำนวนและขนาดสายส่งแรงดันสูง เชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ ขนอมและจะนะ กำลังผลิตรวม 2,400 เมกะวัตต์ ตรงสู่เมืองที่มีการใช้ไฟฟ้ามากในบริเวณฝั่งอันดามัน และเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางที่สถานี จ.สุราษฎร์ธานี

2.พัฒนาระบบสายส่ง ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนลงทุนขยายการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้เป็น 1,000 เมกะวัตต์ และสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถบริหารจัดการได้เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กแล้วประมาณ 100 เมกะวัตต์ โดยจะเพิ่มอีกจำนวน 300 เมกะวัตต์ โดยภาครัฐจะเข้ามาลงทุนแทน กฟผ. เพราะมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ควรใช้งบประมาณจากรัฐ และจะใช้มาตรการดีมานด์ เรสปอนส์ คือลดใช้ไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดเพื่อรับส่วนลดค่าไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคใต้มีความต้องใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ จำเป็นต้องนำจากไฟฟ้าภาคกลางมาช่วย ซึ่งปกติความต้องการไฟฟ้าภาคใต้ โดยเฉพาะจุดท่องเที่ยวจะขยายตัวมากกว่า 5% ต่อปี ซึ่งการเลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหา เพราะมีมาตรการรองรับทั้งหมดจะช่วยลดโหลดไฟฟ้าได้ถึง 10-15% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

สำหรับการจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่นั้น จะเปลี่ยนกระบวนการวางแผนใหม่ โดยจะไม่มีการกำหนดสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในแผน แต่จะระบุไว้เป็นทางเลือกเท่านั้น ส่วนพลังงานชนิดอื่นๆ ก็จะระบุไว้ว่าควรมีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดใดบ้าง แต่ไม่ระบุแบบเจาะจงถึงจำนวนกำลังการผลิต เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

นายศิริ กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง กฟผ. และบริษัท ปตท. เพื่อดำเนินโครงการ ด้านพลังงานร่วมกัน โดยเตรียมตั้ง คณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น และไม่ทำให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อนกันระหว่าง 2 หน่วยงาน แต่ให้ส่งเสริมกันในด้านการลงทุน โดยโครงการที่ทั้งสองหน่วยงานให้ความสนใจขณะนี้คือ โครงการคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในเมียนมา และโอกาสในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมา