posttoday

รัฐบาลออก 3 มาตรการช่วยผู้ประกอบการได้รับผลกระทบขึ้นค่าแรง

30 มกราคม 2561

รัฐบาลคลอด 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งลดภาษี-ให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม

รัฐบาลคลอด 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งลดภาษี-ให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้มีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง โดยในเอกสารการประชุมระบุว่าจะมีการปรับขึ้น 8-20 บาท/วันในทุกจังหวัด มาที่ 308-330 บาท เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.61

พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป

"การปรับค่าจ้างขั้นต่ำย่อมมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รัฐบาลจึงมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย 3 มาตรการ โดยเป็นเพียงส่วนหนึ่งอาจมีมาตรการตามมา"นายณัฐพร กล่าว

มาตรการแรก คือ มาตรการลดหย่อนภาษี โดยให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันมาหักภาษีได้ 1.15 เท่า เงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการที่จะลดหย่อนได้คือ บริษัทต้องมีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 5,400 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SME ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยการประหยัดจากการเพิ่มผลิตภาพจะช่วยชดเชยภาระจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะช่วยให้ SME มีการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 61-63 (3 ปี) โดยในปีแรก (ปีงบประมาณ 61) ดำเนินการระหว่างเดือน ก.พ.-ก.ย.61 ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินโครงการ เป็นจำนวน 5,000 ล้านบาท โดย SME ที่เข้าร่วมโครงการและสามารถลดต้นทุนการผลิต (เช่น การลดของเสียจากต่าใช้จ่ายด้านวัสดุ การปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน) ได้ 10% จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหรือลดต้นทุนได้ประมาณ 3-5% ของต้นทุนทั้งหมด

นอกจากจะเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวด้วย และหากประมาณการมูลค่าเพิ่มจาก SME ประมาณ 1.8 ล้านบาท/กิจการ จะพบว่าลดต้นทุนขั้นต่ำเฉลี่ยได้ 3% จะช่วยประหยัดหรือลดต้นทุนได้เฉลี่ย 54,000 บาท/กิจการ หรือ รวมเป็น 270 ล้านบาท/ปี (ดำเนินการในปีแรก 5,000 กิจการ)

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบด้านแรงงาน โดยปรับปรุงเพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้มีการดำเนินการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีมาใช้ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิม เป้นระยะเวลา 3 ปี โดยกำหนดวงเงินสูงสุดที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของมูลค่าเครื่องจักรที่นำมาปรับปรุง

ส่วนการปรับปรุงมาตรการการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน (Merit) BOI เห็นควรขยายขอบข่ายมาตรการให้ครอบคลุมการอบรมบุคลากรให้มีทักษะเฉพาะทางที่สูงขึ้น เพื่อให้สามารถปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยให้ได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น