posttoday

คมนาคมปัดลดสปีดรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

28 มกราคม 2561

คมนาคมปฏิเสธปรับระบบความเร็วรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ คาดผู้โดยสารทะลุ 7 หมื่นคนต่อวันภายใน30ปีหลังเปิดใช้

คมนาคมปฏิเสธปรับระบบความเร็วรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ คาดผู้โดยสารทะลุ 7 หมื่นคนต่อวันภายใน30ปีหลังเปิดใช้

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลไทยต้องการประหยัดงบประมาณ จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ระบบเดียวกับ "ชินคันเซ็น" มาเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวย การสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อพิจารณาหารูปแบบการดำเนินโครงการที่มีความเหมาะสมและเกิดความคุ้มค่าสูงสุดในการลงทุน

ทั้งนี้ การประชุมหารือดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 6 ก.พ. 2561 ส่วนเรื่องหากจะปรับระบบเป็นความเร็วปานกลางจะเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเปรียบเทียบ ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเปลี่ยนเป็นความเร็วปานกลางแต่อย่างใด

นายชัยวัฒน์กล่ลวต่อว่าผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) พบว่า มีมูลค่าการลงทุน ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 276,226 ล้านบาท ส่วนแนวเส้นทางจากสถานีบางซื่อ-พิษณุโลก ระยะทางรวม 380 กิโลเมตร โดยใช้เทคโนโลยี : ชินคันเซ็น/ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง/ขนาดราง 1.435 เมตร/สถานี 7 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก/เวลาในการเดินทางจากบางซื่อ-พิษณุโลก 1 ชั่วโมง 58 นาที 

ส่วนด้านผลการวิเคราะห์การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร แบ่งเป็นสองกรณีประกอบด้วย 1.กรณีไม่มีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง ปี 2568 (ปีเปิดบริการ) มีปริมาณผู้โดยสารจำนวน 29,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2598 2. กรณีมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางปี 2568 (ปีเปิดบริการ) มีปริมาณผู้โดยสารจำนวน 29,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 73,200 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2598

ทั้งนี้การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ รวมผลประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางเท่ากับ 14.7% แต่ถ้าไม่รวมผลประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางจะอยู่ที่ 7.2% ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ฝ่ายไทยต้องจัดทำแผนระดับชาติและแผนพัฒนาภูมิภาคตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อประโยชน์สูงสุดทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งจำเป็นต้องจัดทำแผนคมนาคมขนส่งที่ครอบคลุมเพื่อให้การเชื่อมต่อการเดินทางมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยไม่ควรพิจารณาเพียงการสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ควรพิจารณาว่าจะใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองในภูมิภาค ได้อย่างไร