posttoday

เกษตรฯระดมจังหวัดเดินหน้าปฏิรูปยางพารา

18 มกราคม 2561

"กฤษฎา" เตรียมปฏิรูปสวนยางพารา รอชงงบกลางปี 2561 จูงใจเกษตรกรทำโครงการสวนยางยั่งยืน หนุนปลูกผสมผสาน

"กฤษฎา" เตรียมปฏิรูปสวนยางพารา รอชงงบกลางปี 2561 จูงใจเกษตรกรทำโครงการสวนยางยั่งยืน หนุนปลูกผสมผสาน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประสานกับคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด (อ.พ.ก.) ร่วมกันขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยกรณีพื้นที่ปลูกยางพาราที่มีจำนวนมาก ต้องมีแนวทางลดผลผลิตที่ออกมาปีละ 4.4 ล้านตัน มีเป้าหมายทำให้เกิดความยั่งยืน โดยจะจัดทำแผนปฏิรูปยางพาราเพื่อเสนอขอในโครงการงบกลางปี 2561

ทั้งนี้ จะมีโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ทดแทนการปลูกยาง เพื่อรองรับการพัฒนาอาชีพ โดยจะส่งเสริมการเปลี่ยนอาชีพจากการทำสวนยางมาทำเกษตรกรรมใหม่ ที่มีตลาดรองรับหรือมีโอกาสที่เกษตรกรจะมีรายได้มากกว่าการทำสวนยาง โดยเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์หรือวิสาหกิจ และมีสวนยางหรือแปลงยางติดกันหรือใกล้เคียงกันในตำบลหรือหมู่บ้านเดียวกัน โดยมีขนาดเนื้อที่รวมกันตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป คล้ายหลักการในโครงการเกษตรแปลงใหญ่

สำหรับทางรัฐจะรับผิดชอบดูแลสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการตลาด รวมทั้งหาอาชีพเสริมในช่วงรอผลผลิตทาง การเกษตรใหม่ที่จะขายได้ด้วย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างหามาตรการจูงใจเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะแตกต่างจากมาตรการจูงใจของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ดำเนินการอยู่

น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมประชุมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ โดยได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเกษตรกรผ่านงบกลางปีของรัฐบาล ทาง รมช.เกษตรฯ ได้เน้นย้ำเรื่องการซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็ก 8,403 แห่งที่ชำรุด และใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำทำการเกษตรนอกฤดูกาล

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและการพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ กล่าวว่า มีโครงการชลประทานที่รอการปรับปรุงเพื่อกักเก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพอีกประมาณ 8,400 แห่ง งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการพระราชดำริประมาณ 1,317 แห่ง ที่ทำเสร็จแต่ยังไม่มีระบบส่งน้ำ และอ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทานกับองค์กรท้องถิ่นรับถ่ายโอนอีก 7,086 แห่ง หากมีการพัฒนาปรับปรุงจะสามารถทำให้ได้น้ำกลับมาใช้ได้ใน 6 เดือน มากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร