posttoday

วิกฤตศรัทธา ‘ปปช.’ ใกล้ซ้ำรอยอดีต

09 มกราคม 2561

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งที่มีอายุมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งที่มีอายุมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ภายใต้หลักการความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

เกือบ 20 ปีของ ป.ป.ช.มีทั้งขาขึ้นและขาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ของ ป.ป.ช.ก่อนปี 2549 ครั้งนั้น ป.ป.ช.ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีขึ้นค่าตอบแทนให้ตนเอง

ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกกรรมการ ป.ป.ช.คนละ 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี แม้ ป.ป.ช.จะไม่ต้องไปใช้ชีวิตในเรือนจำ แต่ผลของคดีในครั้งนั้นก็ทำให้ ป.ป.ช.ต้องเกิดภาวะสุญญากาศเพราะไม่มีกรรมการ ป.ป.ช.มาเป็นเวลาหลายปี

ในปี 2549 วุฒิสภาชุดนั้นพยายามจะเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเมื่อมีผู้สมัครคนหนึ่งที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาได้ขอถอนตัวออกไป ทำให้มีบัญชีรายชื่อบุคคลที่ผ่านการสรรหาครบตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนด สุดท้ายการเลือก ป.ป.ช.ต้องเคว้งคว้างต่อไป จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารและนำมาสู่การตั้ง ป.ป.ช.จำนวน 9 คนในปีเดียวกัน

ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ป.ป.ช.ถูกตั้งความหวังไว้ค่อนข้างมากว่าจะสามารถช่วยขจัดปัดเป่าไม่ให้การทุจริตเป็นมะเร็งร้ายของสังคมไทย โดยมีหลายคดีที่ ป.ป.ช.สามารถสร้างความกระจ่างให้กับสังคม แต่มีอีกบางคดีที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ดำเนินการให้สังคมคลายความสงสัยมากนัก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การพิจารณาคดีจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่ง ป.ป.ช.มีการดำเนินการส่งคดีให้อัยการสูงสุดและศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาคดีเป็นที่สุดไปแล้ว ผิดกับคดีโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าเท่าไหร่นัก ทั้งๆ ที่เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนโครงการรับจำนำข้าว

ด้วยเหตุนี้เอง ป.ป.ช.จึงต้องเผชิญกับกระแสคำถามมาตลอดถึงมาตรฐานการทำงานของ ป.ป.ช.ที่ยังไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่นัก

ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ป.ป.ช.ได้เกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้งเนื่องจากมีกรรมการ ป.ป.ช.หลายคนพ้นจากตำแหน่ง จนนำมาสู่การเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ และหนึ่งในชื่อที่ได้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ไม่เพียงแต่ได้เป็นกรรมการเท่านั้น เพราะยังได้เป็นถึงประธาน ป.ป.ช.ด้วย

การขึ้นมาเป็นใหญ่ใน ป.ป.ช.ของ พล.ต.อ.วัชรพล ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะก่อนที่จะมาเป็น ป.ป.ช.นั้น เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มาก่อนอีกด้วย

ป.ป.ช.พยายามจะแสดงท่าทีต่อสังคมเพื่อให้เห็นว่าเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร แต่มาถึงเวลานี้การพยายามของ ป.ป.ช.ยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นัก ภายหลังปัจจุบันมีคดีเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้าสู่ ป.ป.ช.เป็นจำนวนไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ พล.อ.ประวิตร จากการมีนาฬิกาหรูโดยเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้แสดงต่อ ป.ป.ช.เมื่อครั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ต้องยอมรับว่า ป.ป.ช.วางตัวและปฏิบัติต่อคดีนี้ได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก เนื่องจากแม้จะมีการส่งหนังสือให้ พล.อ.ประวิตร ชี้แจง ซึ่ง ป.ป.ช.เองก็ได้รับคำชี้แจงบางส่วนจาก พล.อ.ประวิตร มาแล้ว แต่ ป.ป.ช.กลับไม่พยายามชี้แจงถึงรายละเอียดการชี้แจงของ บิ๊กป้อมแก่สาธารณชนบางส่วน

ป.ป.ช.บ่ายเบี่ยงต่อสื่อมวลชนในการตอบคำถาม โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการสอบสวน ต่างกับคดีของนักการเมืองในอดีตที่ ป.ป.ช.จะพยายามเปิดเผยข้อเท็จจริงเท่าที่จะสามารถทำได้และไม่กระทบต่อรูปคดี เช่น เส้นทางการเงินเกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น

การปฏิเสธไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินคดี ย่อมเป็นสิทธิที่ ป.ป.ช.สามารถกระทำได้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการตรวจสอบตามกฎหมาย แต่ต้องไม่ลืมว่าคดีนี้กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน

ยิ่ง ป.ป.ช.แสดงออกถึงการปกปิดมากเท่าไหร่ ผลเสียย่อมตกอยู่กับ ป.ป.ช.มากขึ้นเท่านั้น

มาถึงเวลานี้ ป.ป.ช.กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตศรัทธาครั้งสำคัญอีกครั้ง หลังจาก ป.ป.ช.เพิ่งได้รับอานิสงส์จากการไม่ถูกรีเซตหรือเซตซีโร่จากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งต่อวีซ่าให้ ป.ป.ช.ทุกคนที่มีคุณสมบัติไม่ครบได้ทำงานต่อไปจนครบวาระ

การไม่ถูกเซตซีโร่และรีเซตก็ทำให้ ป.ป.ช.ตกที่นั่งลำบากมากพอสมควร เพราะถูกมองว่าจะเป็นเบาะคอยรองรับ คสช.ในวันที่ คสช.ต้องลงจากอำนาจ และเมื่อต้องมาเจอกับการพิจารณาคดีและท่าทีของ ป.ป.ช.ต่อคดีความของ คสช. ยิ่งเป็นการทำให้ ป.ป.ช.กำลังเกิดปัญหาเหมือนในอดีตอีกครั้ง

ป.ป.ช.กำลังเจอกับการท้าทายครั้งสำคัญ ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนจะพาองค์กร ป.ป.ช.ที่เป็นที่พึ่งของประชาชนฝ่ากระแสการตรวจสอบไปได้อย่างไร เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ป.ป.ช.ยุคนี้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยปราศจากมือที่มองไม่เห็นเข้ามาคอยกำกับและควบคุม