posttoday

กกพ.เดินหน้าลดต้นทุนหวังตรึงค่าเอฟทีตลอดปี

28 ธันวาคม 2560

กกพ.คาดแนวโน้มเอฟทีปี 2561 มีโอกาสทรงตัว เล็งรื้อแผนลงทุน 3 การไฟฟ้ากดต้นทุนลดลง

กกพ.คาดแนวโน้มเอฟทีปี 2561 มีโอกาสทรงตัว เล็งรื้อแผนลงทุน 3 การไฟฟ้ากดต้นทุนลดลง

นายวีระพล  จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ทิศทางค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในปี 2561 ในงวดแรก (ม.ค.-เม.ย. 2561) ได้ประกาศตรึงค่าไฟไว้คงเดิมที่ค่าเอฟทีติดลบ 15.90 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเรียกเก็บรวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.59 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

สำหรับงวดถัดไป (พ.ค.-ส.ค. 2561) หากดูทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติที่สะท้อนจากราคาน้ำมันไม่ต่างจากงวดแรกมากนัก ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันยังคงมีเงินเหลือจากการบริหารจัดการค่าเอฟทีงวดแรกอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท จึงทำให้ค่าไฟมีแนวโน้มจะตรึงราคาได้ใน 2 งวด ส่วนงวดสุดท้าย (ก.ย.-ธ.ค. 2561) จะมีการปรับค่าไฟฟ้าฐานใหม่ ทำให้ค่าเอฟทีต้องเป็นศูนย์ ส่วนจะขึ้นหรือลดลงก็ต้องดูหลายปัจจัยประกอบ

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าฐานใหม่ที่จะใช้ปี 2561-2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะนำมาใช้ได้ในงวดสุดท้ายของปีหน้า ซึ่งจะต้องศึกษาแผนการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ว่าในปี 2561-2563 จะมีเม็ดเงินมากน้อยเท่าไร หากต่ำกว่าแผนที่วางไว้จะมีผลให้ค่าไฟฐานลดลงได้เช่นกัน แต่หากเงินลงทุนสูงกว่าเดิมจะต้องปรับขึ้น

นายวีระพล กล่าวว่า กกพ.จะทบทวนรายละเอียดในบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าบริการรายเดือน ซึ่งเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า 2 ประเภท คือ บ้านที่อยู่อาศัยที่ติดมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน คิดค่าบริการ 8.19 บาท/เดือน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้า เพื่อเป็นการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อย  2.ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน คิดค่าบริการ 38.22 บาท/เดือน  ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ สะท้อนข้อเท็จจริง และอนาคตจะมีการปรับการบริการไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น