posttoday

เกษตรนำทัพสหกรณ์แก้จน

15 ธันวาคม 2560

รมช.เกษตรฯ สั่งบูรณาการทำงานกระทรวง พร้อมนำสหกรณ์ 1,400 แห่ง แก้จนตามนโยบายรัฐ

รมช.เกษตรฯ สั่งบูรณาการทำงานกระทรวง พร้อมนำสหกรณ์ 1,400 แห่ง แก้จนตามนโยบายรัฐ

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการให้นโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่า ได้ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯบูรณาการทำงานร่วมกันโดยให้กองแผนงานทุกกรมมาวางแผนร่วม กันลดความซ้ำซ้อนในงาน มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนหนึ่งเพื่อล้างหนี้ให้กับเกษตรกร 3.9 ล้านคนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามแนวทาง 4 ที คือ ทาร์เก็ตกรุ๊ป หรือกลุ่ม เป้าหมาย ทาร์เก็ตเอเรีย หรือพื้นที่ที่จะดำเนินการไทมิ่ง เวลาในการทำงานและเทคโนโลยี โดยในระยะเร่งด่วนจะทำใน 3 พื้นที่ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำห้วยโสมง โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปดูว่าในพื้นที่เหล่านี้จะดูแลและพัฒนาเกษตรกรอย่างไร

"นอกจากนี้ให้ไปดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้สมาชิกสหกรณ์ 11.4 ล้านคนมาใช้การค้าออนไลน์ เพราะที่ ผ่านมาอาลีบาบาเคยสนใจมาทำฐานการค้าในไทยแต่ติดขัดกฎหมายต้องย้ายไปมาเลเซียทำให้เสียโอกาสในรายได้จำนวนมาก" นายวิวัฒน์ กล่าว

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมจะไปตรวจสอบว่ามีสหกรณ์กี่แห่งใน 3 พื้นที่ที่เข้าไปส่งเสริมหรือปรับปรุงให้มีศักยภาพในการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ

"ขณะนี้กรมได้เตรียมสหกรณ์เพื่อขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความยากจน ตามคำสั่งของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไว้จำนวน 1,490 แห่ง ที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการพัฒนาเอสเอ็มอีด้านการเกษตรในกลุ่มสินค้าเกษตรหลัก ทั้งข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เป็นต้น" นาย พิเชษฐ์ กล่าว

ปัจจุบัน กรมมีสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการดำเนินการ 3,000 กว่าแห่ง แต่พร้อมร่วมงานขับเคลื่อนแก้จนประมาณพันกว่าแห่งครอบคลุมสินค้าเกษตรสำคัญ แยกเป็น 1.สหกรณ์ที่มีความพร้อมที่จะแปรรูปทั้งทุน เครื่องมือมีตัวสินค้า มีตลาดรองรับประมาณ 700 แห่ง 2.มีสินค้าแต่ไม่มีสหกรณ์รองรับแปรรูป 410 แห่ง ซึ่งหากจะยกระดับต้องพัฒนาและส่งเสริมเครื่องจักรและพัฒนามาตรฐาน และ 3.สหกรณ์ที่มีเครื่องมือในการแปรรูปแต่ไม่มีสินค้า 125 แห่ง

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะเสนอมาตรการแก้ไขราคายางพาราตกต่ำต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ตามมาตรการที่เสนอไปแล้ว โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาคราชการที่จะเสนอได้ประมาณ 1.7 แสนตัน และในส่วนของการทำถนนชั้นพาราซอยล์ ซีเมนต์ หรือถนนชั้นกลาง ที่ใช้ยางมากถึง 30% ผิวถนนใช้ยาง 5% จะทำให้ดึงปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 14% เป็น 20% ต่อปี คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อรับทราบแล้วจะเสนอ ครม.ได้ทันที

นอกจากนี้ การช่วยเหลือ เกษตรกรเพื่อลดปริมาณผลผลิตนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งขับเคลื่อนมาตรการในการส่งเสริมเกษตรกรลดพื้นที่ปลูก ส่งเสริมปลูกพืชเสริม พืชแซม จะช่วยไร่ละประมาณ 4,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่