posttoday

เล็งเพิ่มทางด่วนรองรับลงทุนอีอีซี

15 ธันวาคม 2560

"ไพรินทร์" สั่งศึกษาขยายทางด่วนรองรับอีอีซี ช่วงบูรพาวิถี-นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร-บ้านบึง

"ไพรินทร์" สั่งศึกษาขยายทางด่วนรองรับอีอีซี ช่วงบูรพาวิถี-นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร-บ้านบึง

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า ได้สั่งการให้ กทพ.พิจารณาขยายทางด่วนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จากช่วงทางด่วนบูรพาวิถี ซึ่งสิ้นสุดที่บริเวณทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ให้สามารถเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์ (ทล.7) บริเวณบ้านบึง จ.ชลบุรี เพื่อเลี่ยงไม่ให้เข้าตัวเมืองชลบุรี และลดความแออัดบริเวณหน้านิคมอมตะที่มีปัญหาจราจร ตลอดจนการเชื่อมต่อกับถนนสาย 331 ที่มาจาก จ.ปราจีนบุรี จันทบุรี เส้นทางไปยังประเทศกัมพูชา

สำหรับความคืบหน้า โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแก้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (สผ.) ดังนั้น กทพ.จะเสนอรูปแบบการลงทุนพีพีพี ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ขณะที่โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 วงเงิน 1.94 หมื่นล้านบาท เชื่อมไปยังวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมภายใน ธ.ค.นี้เช่นกัน

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นได้สรุปรายงานผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในส่วนของระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 กม. มูลค่าการลงทุน 2.8 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งเป็นการลงทุนเกี่ยวกับงานโยธา อาณัติสัญญาณ ระบบรถ และการบำรุงรักษา โดยหลังจากนี้จะเร่งสรุปแนวทางดำเนินโครงการที่ชัดเจนก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.พ. 2561

สำหรับผลการศึกษาอัตราค่าโดยสารนั้นได้กำหนดค่าแรกเข้าไว้ที่ 80 บาท และคิดค่าเดินทาง กม.ละ 1.5 บาท ส่งผลให้ค่าโดยสารช่วงระยะที่ 1 มีค่าโดยสาร 650 บาท ขณะที่ค่าโดยสารตลอดสายช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม. จะอยู่ที่ราว 1,089 บาท

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนนั้นญี่ปุ่นมีข้อเสนอว่าควรเป็นโครงการที่รัฐบาลเป็น ผู้ลงทุน แต่ทางไทยก็เสนอเป็นทางเลือกว่าน่าจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุนพีพีพีระหว่างรัฐบาลไทยและเอกชนไทย

นายอาคม กล่าวว่า ด้านรูปแบบการก่อสร้างนั้นจะทยอยสร้างเป็น ช่วงๆ พร้อมดำเนินการจัดซื้อตัวรถเพื่อเร่งรัดให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็วและทยอยเปิดให้บริการประชาชนก่อน เช่น สถานีที่ 1 บางซื่อ สถานีที่ 2 ดอนเมือง สถานีที่ 3 อยุธยา ระยะ ทางประมาณ 100 กม. จากนั้นจึงดำเนินการออกแบบและก่อสร้างสถานีที่ 4 ลพบุรี สถานีที่ 5 นครสวรรค์ และสถานีที่ 6 พิษณุโลก ตามลำดับ

ขณะที่กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงแรก ระยะทาง 3.5 กม. ช่วงสถานี ปางอโศก-กลางดง ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ทาง ทล.เร่งรัดดำเนินการ  โดยมั่นใจว่าจะดำเนินงานได้ตามแผนและคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน นอกจากนี้จะมีการหารือคณะทำงานร่วมไทย-จีน เพื่อขอให้จีนเร่งทยอยส่งแบบงานก่อสร้างระยะที่เหลือเพื่อให้งานก่อสร้างเดินหน้าโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ทาง ทล.พัฒนาคุณภาพการก่อสร้างถนน ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้โดยเฉพาะจุดเสี่ยงทั้ง 61 จุด ซึ่งต้องเร่งซ่อมแซมผิวทางให้พร้อมรองรับการเดินทาง ติดตั้งเครื่องป้องกัน สัญญาณ และป้ายเตือน เพื่อให้ผู้ใช้ทางเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น