posttoday

เกษตรรับลูกตั้งกองทุนยาง

07 ธันวาคม 2560

เกษตรรับลูกตั้งกองทุนยาง 'ลักษณ์'จับเข่าคุยแกนนำหวังเร่งแก้ปัญหา หวั่นก่อม็อบหากใน30วันไม่จบ

เกษตรรับลูกตั้งกองทุนยาง 'ลักษณ์'จับเข่าคุยแกนนำหวังเร่งแก้ปัญหา หวั่นก่อม็อบหากใน30วันไม่จบ

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ว่า ได้รับข้อเสนอ 5 ข้อของชาวสวนยาง โดยขอเวลาพิจารณารายละเอียด เพราะแต่ละกลุ่มเสนอมาหลากหลาย ซึ่งบางมาตรการอาจสามารถทำได้เลย ขณะที่อีกหลายข้อเสนอต้องพิจารณาร่วมกันหลายหน่วยงาน

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่เกษตรกรเสนอคือ 1.การตั้งกองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง โดยใช้เงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (เซส) ที่คณะกรรมการบริหาร การยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) ดูแลและเกษตรกรพร้อมจ่ายสมทบเหมือนกองทุนประกันสุขภาพ 2.ส่งเสริม ลดปริมาณการปลูกต้นยางเพื่อลดปริมาณน้ำยาง 3.การให้ตัวแทนเกษตรกร เข้ามีส่วนรวมใน กยท. 4.ขอให้นำเงินจากกองทุน กยท.มาช่วยเหลือค่า ยังชีพให้เกษตรกร 3,000 บาท/ ครัวเรือน และ 5.การส่งเสริมการแปรรูป ยางพารา

สำหรับการตั้งกองทุนสวัสดิการถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เกษตรกรไม่ต้องการเป็นฝ่ายร้องขอรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้กองทุนเติบโตและกลับมาช่วยเกษตรกรสวนยาง ซึ่งจะหารือกับ กยท.ว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนการเรียกร้องให้ปลดผู้ว่าฯ กยท.ยังไม่ขอพูดเรื่องนี้ โดยจะพิจารณารายละเอียดทั้งหมดก่อน

นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า เกษตรกรเรียกร้องให้ กยท.ตั้งกองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง เพื่อให้มีกองทุนมาดูแลเป็นการเฉพาะ โดยเกษตรกรที่สนใจเป็นสมาชิกจะจ่ายสมทบวันละ 1 บาท เกษตรกรขึ้นทะเบียนประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน จะได้เงินประมาณ 300 กว่าล้านบาท และมีเงินจากมาตรา 49(5) อีก 7% อีกประมาณ 300 กว่าล้านบาท ของเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางที่จัดเก็บได้แต่ละปีๆ ประมาณ 8,000 ล้านบาท ทำให้แต่ละปีจะมีเงินส่วนนี้ประมาณ 700 กว่าล้านบาท/ปี และให้เป็นค่าปลงศพ 3,000 บาท/ราย โดยเครือข่ายเรียกร้องให้นำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในช่วงราคายางตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม เสนอให้บอร์ด กยท.เร่งพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวภายใน 30 วัน เพื่อตรวจสอบว่ารัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหา  โดยเครือข่ายจะติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขใน 3 เรื่องสำคัญ คือการตั้งกองทุนสวัสดิการ การแก้ไขระเบียบ กยท. เพื่อนำเงินกยท.ที่ดูแลเกษตรกรออกมาใช้ และเรื่องการรับรองเกษตรกรสวนยาง คนกรีดยางที่ทำกินในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีประมาณ 2.8 แสนครัวเรือนจำนวน 4.4 ล้านไร่ ที่รัฐจะต้องออกมาช่วยเหลือเพราะกลายเป็นประชาชนชายขอบที่รัฐไม่ดูแล

"ทุก 1 บาท ที่ราคายางลดลงต่อกิโลกรัม (กม.) เงินหายไป 100 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ว่า กยท. ทำตัวเป็นนายยาง ไม่สนใจเกษตรกร บริการงานไม่เป็นไปตามนโยบายและกระทรวงเกษตรฯ ก็ยังไม่สรุปผลสอบ ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีต รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการไว้  ดังนั้น หาก 30 วัน กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย เครือข่ายสวนยางทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวขับไล่ทั้งผู้ว่า กยท.และรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรฯ" นายสุนทร กล่าว

นายสุนทร กล่าวว่า ขณะนี้ ถนนทุกสายเรียกร้องให้ปลดผู้ว่า กยท. และบอร์ด จึงขอถามนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ว่าได้รับหนังสือผลสอบข้อเท็จจริงผู้ว่า กยท. มาจาก กยท.ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. จนขณะนี้ยังไม่มีคำตอบต่อประชาชน.