posttoday

ดีเดย์รถไฟไทย-จีน เคาะตอกเสา21ธ.ค.

25 พฤศจิกายน 2560

คมนาคมเตรียมเสนอ “บิ๊กตู่” ตอกเสาเข็มรถไฟไทย-จีน 21 ธ.ค.นี้ พร้อมแบ่งประมูล 14 สัญญา 1.25 แสนล้าน

คมนาคมเตรียมเสนอ “บิ๊กตู่” ตอกเสาเข็มรถไฟไทย-จีน 21 ธ.ค.นี้ พร้อมแบ่งประมูล 14 สัญญา 1.25 แสนล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 22 ว่า ได้กำหนดวันเริ่มตอกเสาเข็มโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดี หลังจากนี้จะเสนอกำหนดวันก่อสร้างที่ชัดเจนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทราบต่อไป

ทั้งนี้ ขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างโครงการดังกล่าวอีก 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119.5 กม. ช่วงที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 110 กม.นั้น จะแบ่งสัญญาเพื่อร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) และเปิดประมูล รวม 14 สัญญา วงเงิน 1.25 แสนล้านบาท โดยจะจัดลำดับการออกแบบและก่อสร้างเพื่อทยอยเปิดใช้บริการเป็นช่วงๆ คาดจะเริ่มก่อสร้างช่วงแรกก่อน ได้แก่ กรุงเทพฯ-อยุธยา ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม มีเป้าหมายเปิดประมูลสัญญาแรกช่วงเดือน มี.ค. 2561

สำหรับสัญญาที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรนั้น กระทรวงคมนาคม จะเร่งหารือรายละเอียดกับฝ่ายจีนเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน มี.ค. 2561 ทั้งเรื่องรายละเอียดตัวรถและวงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างต่อไป

นายอาคม กล่าวว่า ด้านสิ่งแวดล้อมขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบอีไอเอแน่นอนเพื่อเริ่มก่อสร้างตามแผนที่วางไว้

ด้านการก่อสร้างช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคายนั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ทางฝ่ายไทยจะอาศัยประสบการณ์จากช่วงที่ 1 มาดำเนินการเอง ทั้งการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าด้านการลงทุน ตลอดจนการออกแบบรายละเอียดโครงสร้าง โดยมีฝ่ายจีนเป็นที่ปรึกษา คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการช่วงที่ 2 ได้ภายในปี 2561

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติว่าในเดือน ธ.ค.นี้ ฝ่ายจีนจะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันรถไฟความเร็วสูงมาทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อจัดทำแผนถ่ายทอดเทคโนโลยี ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.การส่งบุคลากรไปศึกษาตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา 2.การจัดหลักสูตรฝึกอบรมเทคนิควิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง และ 3.การฝึกปฏิบัติจริง ทั้งการขับรถ และการบำรุงรักษา ขณะเดียวกันยังได้หารือการดำเนินการช่วงที่ 3 หนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งฝ่ายจีนรับไปดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียด