posttoday

เล็งยืดมาตรการลงทุนอีอีซี

06 พฤศจิกายน 2560

อุตสาหกรรมจ่อยืดอายุมาตรการหนุนลงทุนอีอีซี หวังให้การขับเคลื่อนนโยบายมีความต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมจ่อยืดอายุมาตรการหนุนลงทุนอีอีซี หวังให้การขับเคลื่อนนโยบายมีความต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 อาจต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก หรือจะต้องมีมาตรการอะไรมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ระหว่างรอ พ.ร.บ.อีอีซี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยจะหารือในที่ประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร็วๆ นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) (กรศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขยายระยะเวลาการเชิญชวนนักลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงในต่างประเทศให้ได้ตามเป้าหมายระยะแรก 30 ราย จากสิ้นปี 2560 เป็นเดือน มี.ค. 2561 เนื่องจากสำนักงานอีอีซีเริ่มก่อตั้งช่วงเดือน มี.ค. 2560 ดังนั้นอยากขอเวลาทำงาน 1 ปี เพื่อให้การชักชวนการลงทุนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจะเน้นกลุ่มที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ เน้นผลประโยชน์กับประเทศ เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกฝนบุคลากร มากกว่าเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามา

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการทำงานของสำนักงานอีอีซีค่อนข้างมีข้อจำกัด คือ นักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนแล้วทั้งหมดเป็นนักลงทุนที่มีการลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว เช่น โตโยต้า ยื่นลงทุนยานยนต์ไฮบริด 2 หมื่นกว่าล้านบาท และขณะนี้มีบริษัทหลายรายแสดงความสนใจลงทุนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เช่น นิสสัน ฮอนด้า ส่วนรายใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรมอากาศยาน คือ แอร์บัส อุตสาหกรรมดิจิทัล คือ ลาซาด้า ต่างรอให้ พ.ร.บ.อีอีซี ประกาศใช้ก่อน ดังนั้นจึงหวังว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ภายในปีนี้ เพื่อให้การลงทุนในอีอีซีขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของเอกชนเองขณะนี้ได้มีการรวมตัวบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ของไทยประมาณ 30-40 บริษัท ติดต่อขอร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีสูงให้เข้ามาลงทุนในไทย โดย ส.อ.ท.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานพาเอกชนไทยไปหารือกับบริษัทต่างชาติโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างวางโปรแกรมและบางส่วนได้เดินทางไปหารือแล้ว โดยประเทศเป้าหมาย เช่น เยอรมนี เม็กซิโก ฝรั่งเศส ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น

ด้านนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และขยายกิจการในพื้นที่โครงการอีอีซีในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2560 มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 495 โรงงาน ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอยู่ 544 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 5.25 หมื่นล้านบาท ลดลง 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.05 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 416 โรงงาน ลดลง 9.76% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 461 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 3.65 หมื่นล้านบาท ลดลง 55.37% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 8.18 หมื่นล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 79 โรงงาน ลดลง 4.81% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 83 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1.59 หมื่นล้านบาท ลดลง 32.91% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2.37 หมื่นล้านบาท

สำหรับพื้นที่อีอีซี จ.ชลบุรี ขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และขยายกิจการมากที่สุด จำนวน 250 โรงงานใน จ.ระยอง จำนวน 148 โรงงานใน จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 91 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนสูงสูดอยู่ที่ จ.ชลบุรี 2.74 หมื่นล้านบาท ใน จ.ระยอง มีมูลค่าการลงทุน 1.78 หมื่นล้านบาท และใน จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าการลงทุน 1.03 หมื่นล้านบาท โดยประเภทกิจการใหม่และขยายกิจการจำนวนมาก เช่น ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานยนต์ อาหาร ผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น