posttoday

ผักแพงดันเงินเฟ้อต.ค.ขึ้น

02 พฤศจิกายน 2560

พาณิชย์ระบุเงินเฟ้อ ต.ค.พุ่ง 0.86% ส่งผลให้เงินเฟ้อ 10 เดือน สูงขึ้น 0.62% คาดทั้งปีไม่เกิน 1% เหตุราคาน้ำมันทรงตัวต่ำ

พาณิชย์ระบุเงินเฟ้อ ต.ค.พุ่ง 0.86% ส่งผลให้เงินเฟ้อ 10 เดือน สูงขึ้น 0.62% คาดทั้งปีไม่เกิน 1% เหตุราคาน้ำมันทรงตัวต่ำ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ต.ค. 2560 เท่ากับ 101.38 สูงขึ้น 0.86% เทียบกับ ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงขึ้น 0.16% เทียบกับ ก.ย. 2560 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) 2560 เพิ่มขึ้นแล้ว 0.62% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.40% สินค้าสำคัญราคาสูงขึ้น เช่น ผักสด เพิ่ม 8.53% เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้มีความต้องการบริโภคเพิ่ม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.40% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.28% และอาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 1% ส่วนสินค้าราคาลดลง เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลด 0.52% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 3.30%

ด้านดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 1.11% สินค้าสำคัญราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 4.89% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 5.58% เป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ และค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่ม 1.07%

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าสูงขึ้น 137 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 46.56% ของน้ำหนักรวม เช่น ผักคะน้า เพิ่ม 13.45% ผักชี เพิ่ม 38.04% ผักบุ้ง เพิ่ม 14.27% นมสด เพิ่ม 0.52% กับข้าวสำเร็จรูป เพิ่ม 0.09% อาหารสำเร็จรูป (แพ็กพร้อมปรุง) เพิ่ม 0.11% น้ำยาปรับผ้านุ่ม เพิ่ม 2.09% บุหรี่ เพิ่ม 7.15% เบียร์ เพิ่ม 0.53% และสุรา เพิ่ม 0.03% ส่วนสินค้ารายการไม่เปลี่ยนแปลง 200 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 37.73% ของน้ำหนักรวม และสินค้าราคาลดลง 85 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 15.71% ของน้ำหนักรวม

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1% ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีเกิน 0.8% แต่ไม่ถึง 1% ซึ่งอยู่ในกรอบประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 0.4-1% ภายใต้สมมติฐาน คือ การขยายตัวเศรษฐกิจไทย 3-4% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 45-55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-34.5 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกเดือน ต.ค. 2560 เท่ากับ 101.53 สูงขึ้น 0.58% เทียบกับ ต.ค. 2559 และสูงขึ้น 0.09% เทียบกับ ก.ย. 2560 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) 2560 สูงขึ้น 0.54% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา