posttoday

คมนาคมสั่งรื้อจัดซื้อหัวรถจักรติงเสี่ยงขาดทุน

28 ตุลาคม 2560

คมนาคมโยน รฟท.ศึกษาเพิ่มเติม แผนจัดซื้อหัวรถจักร 1.95 หมื่นล้าน เน้นความคุ้มค่า หวั่นเลือกวิธีเช่าเสี่ยงขาดทุน

คมนาคมโยน รฟท.ศึกษาเพิ่มเติม แผนจัดซื้อหัวรถจักร 1.95 หมื่นล้าน เน้นความคุ้มค่า หวั่นเลือกวิธีเช่าเสี่ยงขาดทุน

นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ขอให้ไปศึกษาเพิ่มเติมโครงการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาด 16 ตันเพลา จำนวน 100 คัน มูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการจัดหาด้วยวิธีซื้อ 50 คัน วงเงิน 6,500 ล้านบาท และจัดหาด้วยวิธีเช่าอีก 50 คัน วงเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม ได้ให้ข้อสังเกตในเรื่องความเหมาะสมและความคุ้มค่าของการจัดซื้อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง รวมถึงจะเปรียบเทียบความคุ้มค่าของแผนอีกครั้ง ระหว่างการจัดซื้อและการเช่า อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นแนวโน้มจะยังคงเป็นรูปแบบการเช่าเช่นเดิม ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท.พิจารณา เพื่อเปิดขายซองประกวดราคาและประมูลต่อไปภายในไตรมาสแรกของปี 2561

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคมนาคม ระบุว่า ต้นทุนการจัดซื้อหัวรถจักรในรูปแบบเช่าคิดระยะเวลาจากสัญญา 15 ปี วันละ 23,302 บาท แตกต่างกับการซื้อรถใหม่ที่มีระยะเวลาใช้การ 25 ปีมีต้นทุนต่อวัน 13,981.20 บาท ขณะที่ค่าซ่อมบำรุง รฟท.ประเมินจากค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นการซ่อมรถจักรที่มีอายุการใช้งานมาแล้ว 18-50 ปี จึงมีค่าใช้จ่ายสูงถึงคันละ 14,031 บาท/วัน

ด้านรถจักรใหม่อายุ 15 ปี ค่าซ่อมบำรุงน้อยกว่า โดยค่าใช้จ่ายในการซ่อมช่วงรถจักรใหม่คันละ 9,821.70 บาท/วัน และ รฟท.ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการสร้างโรงซ่อมใหม่ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายของ รฟท.ในกรณีเช่ารถ 50 คัน ระยะ 15 ปี อยู่ที่คันละ 51,945 บาท/วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 14,219.9 4 ล้านบาท เปรียบเทียบกับการซื้อค่าใช้จ่าย 15 ปี เป็นเงิน 6,719.44 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายลดลงถึง 7500.5 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปซื้อรถจักรใหม่ได้มากกว่า 50 คัน ดังนั้น ในกรณีเช่ารถจักรจึงมีแนวโน้มความเสี่ยงที่ รฟท.จะขาดทุนมากขึ้น

ภาพประกอบข่าว