posttoday

ชงครม.จ่ายชดเชยรถไฟสายสีแดง1.3พันล. หลังส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนล่าช้า

24 ตุลาคม 2560

ชงครม.จ่ายค่าชดเชยสายสีแดง 1.3พันล้าน ด้านบอร์ด รฟท.ไฟเขียวขยายสัญญาคุมงาน 1 พันล้านบาท

ชงครม.จ่ายค่าชดเชยสายสีแดง 1.3พันล้าน ด้านบอร์ด รฟท.ไฟเขียวขยายสัญญาคุมงาน 1 พันล้านบาท

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กรรมการและรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่าคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) รฟท. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลางานบริการที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา (CSC) สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยจะขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีก 800-1,000 วัน เพื่อให้ระยะเวลาของสัญญาสอดคล้องกับงานก่อสร้างโครงการที่จะแล้วเสร็จในปี 2563

ส่วนเรื่องการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยให้กับเอกชนภายหลังจากที่รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดนั้นขณะนี้ยังไม่ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด รฟท.อย่างไรก็ตามงานก่อสร้างโครงการดังกล่าวขณะนี้ผู้รับเหมาได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากที่คำนวณไว้ ซึ่งรฟท.ได้รับเรื่องและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณารายเอียดแล้วหลังจากนั้นอัยการจะส่งเรื่องกลับมาแจ้งอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เปิดเผยว่าขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างการคำนวณค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายให้กับเอกชนซึ่งล่าสุดพบว่าตัวเลขวงเงินค่าชดเชยที่เหมาะสมประกอบไปด้วยสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ค่าชดเชยอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท ส่วนด้านสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต 6 สถานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ค่าชดเชยอยู่ที่ราว 300 ล้านบาท โดยตัวเลขค่าชดเชยดังกล่าวนั้นรฟท.มองว่าสมเหตุสมผลเนื่องจากความล่าช้าของการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างนั้นทำให้ผู้รับเหมามีต้นทุนมากขึ้นทั้งค่าจ้างพนักงานและค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การก่อสร้างตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคอาทิที่พักอาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ที่บอร์ดได้สั่งการให้กลับมาทบทวนวงเงินค่าชดเชยนั้นเนื่องจากต้องการให้ตรวจสอบรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อนเพื่อตอบคำถามผู้บริหารให้ได้ว่าทำไมถึงเพิ่งจะพิจารณาจ่ายค่าชดเชยทั้งที่งานก่อสร้างเดินมากว่า 60%-70% แล้ว ทั้งนี้รฟท.จะเสนอเรื่องค่าชดเชยสายสีแดงให้บอร์ดพิจารณาเร็วๆนี้เพื่อชงเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้มีมติเห็นชอบต่อไป สำหรับการขยายสัญญาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา (CSC)ออกไปจนถึงปี2563 นั้นมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า สำหรับสัญญาที่ 1 วงเงิน 29,640 ล้านบาท ของกิจการร่วมค้าเอสยู ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECและบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอน์ด คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บอร์ดเห็นชอบขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปประมาณ 800 วัน ให้กำหนดสิ้นสุดสัญญาในปี 2562 ส่วนด้านสัญญาที่ 2 วงเงิน 23,925 ล้านบาท ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บอร์ดเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาออกไปประมาณ 200 วัน ให้กำหนดสิ้นสุดสัญญาปี 2561 ทั้งนี้ปัจจุบันความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล คืบหน้าไปแล้ว57% ส่วนด้านสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต 6 สถานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร คืบหน้าไปแล้ว 88%