posttoday

นายกฯขออย่ามองนายทุนได้ประโยชน์บัตรคนจน

20 ตุลาคม 2560

"ประยุทธ์"ขออย่ามองผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ประโยชน์จากบัตรผู้มีรายได้น้อย ตั้งเป้าทุกตำบลต้องมีร้านธงฟ้าอย่างน้อย1แห่ง

"ประยุทธ์"ขออย่ามองผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ประโยชน์จากบัตรผู้มีรายได้น้อย ตั้งเป้าทุกตำบลต้องมีร้านธงฟ้าอย่างน้อย1แห่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ปัจจุบันเป็นการให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ผ่าน“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”แบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2ส่วนคือ (1) ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 300 บาท และ(2) เป็นค่าเดินทาง 1,500 บาท มีผู้ลงทะเบียนฯ และผ่านคุณสมบัติตามโครงการ กว่า 11 ล้านราย

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายรายวันเราก็จำเป็นจะต้องผูกโยงกับการซื้อขายสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือนกว่า 300รายการ จากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เรายังไม่สามารถที่จะไปถึงการซื้อทั่วไปได้ในระยะแรกนี้ ซึ่งเราก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนของวงการนี้ ของรัฐบาลนี้ ด้วยการจำหน่าย สินค้าในราคา“ต่ำกว่าตลาด”อย่าไปมองว่าเขาจะได้ประโยชน์ แต่เขาก็มีคนงาน มีผู้อยู่ในสถานประกอบการอีกมากมายเป็นพี่น้องเราทั้งสิ้นเขาก็ได้มีเงินเดือนในส่วนของผู้ประกอบการข้างล่าง ระดับผู้ปฏิบัติเราก็จะขายสินค้าในราคาต่ำกว่าตลาด ร้อยละ 20

"ก็ลองคิดดูซิว่า ถ้าเราไปซื้อของข้างนอกนี่ จะทำได้อย่างนี้หรือเปล่า ก็ต้อง หารือกันต่อไปหลายคนก็อยากให้ไปซื้อของตามร้านขายของประชาชนด้วย อะไรด้วย ต้องเป็นระยะต่อไป ว่าจะทำได้ยังไง คงจะต้องมีมาตรการการควบคุม ด้วยวิธีการที่เหมาะสมวันนี้เราก็ไปซื้อได้ที่ ร้านธงฟ้า ไปก่อนนะครับ มีอยู่กว่า 6,000แห่ง ทั่วประเทศ ปัญหาของเราก็คือเรื่องการติดเครื่องรับการ์ดก็เร่งดำเนินการอยู่เป้าหมายของเราก็คือ แต่ละตำบลต้องมีร้านธงฟ้า อย่างน้อย 1 แห่งในอนาคตอันใกล้ จะขยายให้ได้ 18,000 แห่ง การดำเนินการในระยะแรก อาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง ก็ต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข

เรื่องบัตรสวัสดิการนี้ เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น ของรัฐบาลในปัจจุบัน เพื่อจะแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อย “แบบมุ่งเป้าและยั่งยืน” เน้นตอบสนองความต้องการพี่น้องประชาชนให้ตรงจุด ตอบโจทย์ให้ตรงประเด็น รัฐบาลก็จะต้องวางโครงสร้าง “ฐานข้อมูลกลางภาครัฐ” นะครับ เชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือในอนาคตนั้น จะเป็นมากกว่าการให้สวัสดิการ (Welfare)โดยจะส่งเสริมอาชีพ การฝึกทักษะแรงงาน หรือการเพิ่มศักยภาพของแรงงาน (Workfare)ก็มีแนวความคิดในการสร้างแรงจูงใจ  ให้กับผู้มีรายได้น้อยไม่ว่าจะอยู่ในวัยแรงงาน หรือวัยชรา ที่มีความพร้อมทำงานตามขีดความสามารถ และตามความสมัครใจ สำหรับเข้าโครงการอบรม การเสริมความรู้ แล้วก็หาอาชีพต่างๆ เพิ่มเติมเช่น งานช่างฝีมือ งานซ่อมรถ ซ่อมแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา  หรืองานประกอบการ ทำขนมเหล่านี้เป็นต้น