posttoday

‘อาคม’ เชื่อมตั๋วร่วมภายในมิ.ย. 61

19 ตุลาคม 2560

รมว.คมนาคม ยันเชื่อมตั๋วร่วมรถเมล์-รถไฟฟ้าภายในมิ.ย. 61 บีทีเอส-เอ็มอาร์ทีรอปลายปี พร้อมลุยติดตั้งตั๋วร่วมทางด่วน-มอเตอร์เวย์ ดีเดย์ต้นปี 62

รมว.คมนาคม ยันเชื่อมตั๋วร่วมรถเมล์-รถไฟฟ้าภายในมิ.ย. 61 บีทีเอส-เอ็มอาร์ทีรอปลายปี  พร้อมลุยติดตั้งตั๋วร่วมทางด่วน-มอเตอร์เวย์ ดีเดย์ต้นปี 62 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ระบบตั๋วร่วม(บัตรแมงมุม)ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางให้ประชาชนโดยใช้บัตรใบเดียวสามารถเดินทางเชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะในทุกระบบ ในเดือน มิ.ย.61ประชาชนจะสามารถใช้ตั๋วร่วมกับ รถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิ้งก์ กับ รถเมล์ ขสมก.ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ ขสมก.ได้ก่อน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง และ รถไฟฟ้าบีทีเอส นั้นประชาชนจะสามารถใช้ตั๋วร่วมได้ประมาณเดือน ต.ค.61 ทั้งนี้เบื้องต้นคาดว่าจะมีประชาชนถือบัตรผู้มีรายได้น้อยเข้ามาใช้บริการระบบขนส่งเพื่อเชื่อมต่อตั๋วร่วมราว 1 ล้านคน

ด้านนายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการติดตั้งตั๋วร่วมในระบบทางด่วนและมอเตอร์เวย์นั้น ล่าสุดกรมทางหลวง(ทล.)ได้รายงานว่าจะตั้งงบประมาณปี 2562 เพื่อดำเนินการติดตั้งระบบอ่านบัตรตั๋วร่วมและซอฟแวร์สำหรับการเก็บค่าใช้จ่าย โดยจะเริ่มดำเนินการจ้างเอกชนเพื่อติดตั้งระบบในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. 2561 ก่อนใช้เวลาติดตั้งราว 3 เดือนเพื่อเปิดใช้ระบบตั๋วร่วมในมอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงกรุงเทพ-พัทยาก่อนเป็นเส้นทางแรกภายในต้นปี 2562 ก่อนจะดำเนินการติดตั้งและเปิดใช้งานต่อไปในมอเตอร์เวย์สาย 9 บางปะอิน-บางนาต่อไป อย่างไรก็ตามการติดตั้งระบบตั๋วร่วมของมอเตอร์เวย์นั้นจะนำเครื่องอ่านบัตรไปติดตั้งในช่องเก็บเงินธรรมดา (Cash) โดยไม่รวมกับระบบคิดเงินในช่องผ่านทางอัตโนมัติ (M-Pass) เนื่องจากเป็นคนละระบบกัน ส่งผลให้ทล.อาจต้องดำเนินการรื้อย้ายด่านเก็บเงินในบางแห่งเพื่อปรับช่องเข้าด่านเก็บเงินในระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบตั๋วร่วม

นายเผด็จกล่าวต่อว่า สำหรับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)นั้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการจ้างเอกชนเพื่อเข้ามาออกแบบและติดตั้งระบบตั๋วร่วมบนทางด่วนทุกสายได้ในช่วงปลายปีหน้าเช่นกัน หลังจากนั้นจะใช้เวลาการติดตั้งราว 4-5 เดือน เพื่อเปิดใช้งานได้ก่อนกลางปี 2562 โดยจะเป็นการติดตั้งระบบเครื่องอ่านบัตร (Reader) ในช่องเก็บเงินธรรมดา (Cash) โดยไม่รวมกับระบบคิดเงินในช่องผ่านทางอัตโนมัติ (Easy-Pass) อย่างไรก็ตามทางด้านการขนส่งทางน้ำอย่างเรือด่วนและเรือข้ามฟากนั้นเบื้องต้นมีเพียงเอกชนผู้ให้บริการเรือข้ามฟากเจ้าพระยาที่ได้ดำเนินการติดตั้งระบบอ่านบัตรไปบ้างแล้วในบางแห่งโดยเอกชนจะลงทุนติดตั้งประตูกั้นบริเวณท่าเรือใหม่ทั้งหมดโดยจะใช้ประตูกั้นใหม่คล้ายกับรถไฟฟ้าเพื่อให้รองรับกับระบบตั๋วร่วมและเครื่องอ่านบัตรที่จะติดตั้ง ขณะที่เรือด่วนคลองแสนแสบนั้นเอกชนผู้ให้บริการยังไม่ได้เข้ามาหารือจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้เชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมหรือไม่

‘อาคม’ เชื่อมตั๋วร่วมภายในมิ.ย. 61