posttoday

ไฮสปีดกรุงเทพ-หัวหิน เสนอบอร์ดพีพีพีไม่ทันพย.ติดปมอีไอเอ

19 ตุลาคม 2560

ด้านรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ 4 แสนล้านยังอืดหลังผลศึกษาไม่ครอบคลุมแผนพัฒนาพื้นที่-สถานีบางซื่อ จี้ญี่ปุ่นส่งผลศึกษาธ.ค.นี้

ด้านรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ 4 แสนล้านยังอืดหลังผลศึกษาไม่ครอบคลุมแผนพัฒนาพื้นที่-สถานีบางซื่อ จี้ญี่ปุ่นส่งผลศึกษาธ.ค.นี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เปิดเผยว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน นั้นยังไม่สามารถเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) พิจารณาได้ในการประชุมครั้งนี้เนื่องจากยังไม่ผ่านการอนุมัติผลอีไอเอจากสผ.ส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังต้องรอความคืบหน้าต่อไป

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211กิโลเมตร วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท กระทรวงคมนาคมได้จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมแล้วเสร็จเพื่อส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว ควบคู่ไปกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ที่ได้จัดทำแล้วเสร็จพร้อมส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( สผ.)ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสผ.

ส่วนด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร วงเงินราว 400,000 ล้านบาทนั้นล่าสุดรอญี่ปุ่นส่งผลศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการก่อสร้างฉบับสมบูรณ์คาดว่าจะส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคมในเดือนธ.ค.นี้ สำหรับความล่าช้าในการศึกษาโครงการดังกล่าวนั้นเนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลการศึกษาความเหมาะสมและรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมโดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีและศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางรถไฟ

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า การประชุมบอร์ดพีพีพี‪ในวันที่ 3 พ.ย.‬นี้จะยังไม่มีวาระพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-หัวหิน หลังจากที่บอร์ดพีพีพีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อส่งกลับมาให้พิจารณา แต่น่าจะยังติดปัญหาหรืออยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจึงยังไม่เสนอวาระให้พิจารณาเข้ามาในการประชุมครั้งนี้ แต่เบื้องต้นในการประชุมครั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะเข้ามารายงานความคืบหน้าให้บอร์ดพีพีพีรับทราบเพียงเท่านั้น

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่นั้นอยู่ระหว่างจัดทำแผนเพิ่มเติมเรื่องการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อด้วย เนื่องจากทางฝ่ายญี่ปุ่นเคยแสดงความกังวลเรื่องการใช้สถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากเห็นว่าเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดจำเป็นต้องแยกชานชาลาของรถไฟความเร็วสูงที่สถานีกลางออกจากระบบรถไฟอื่น ๆ อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุนตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ(G2G)อีกด้วย

ภาพประกอบข่าว