posttoday

เร่งเคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อนชงครม.เร่งเดินหน้าโครงการ

17 ตุลาคม 2560

เร่งเคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 6 หมื่นล้าน ชงครม.เคาะดำเนินโครงการภายในปีนี้ ยันเดินหน้าเปิดประมูลส่วนต่อขยาย ภายในปี 61

เร่งเคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 6 หมื่นล้าน ชงครม.เคาะดำเนินโครงการภายในปีนี้ ยันเดินหน้าเปิดประมูลส่วนต่อขยาย ภายในปี 61 

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมได้เรียกกรุงเทพมหานคร(กทม.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วย สายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 21,403 ล้านบาท และสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ - คูคต 39,412 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ากทม.จะสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ จึงได้สั่งการให้กทม.กลับไปทำตัวเลขการเงินการคลังมาเสนอที่ประชุมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพ.ย. หลังจากนั้นกระทรวงจะเร่งเสนอข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในปลายปีนี้เพื่อเร่งดำเนินโครงการต่อไป

อย่างไรก็ตามถ้าหากยังไม่สามารถสรุปเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สิน รฟม.ได้เสนอแผนระยะสั้น ที่จะให้กทม.เปิดเดินรถไปก่อนโดยต้องจ่ายค่าเช่าโครงสร้างพื้นฐานให้กับรฟม.

นายพีระพลกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทปราการ-บางปู วงเงิน 1.37 หมื่นล้านบาทโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1.19 หมื่นล้านบาท นั้นกระทรวงคมนาคมและกทม.ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปหลังจากเคลียร์การโอนหนี้สินและทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเร่งเสนอโครงการให้ครม.พิจารณาในปีนี้ก่อนจะเร่งเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์) ประกาศเชิญชวนเอกชนตลอดจนเปิดประมูลโครงการภายในปี 2561 ให้ได้ตัวเอกชนมาดำเนินการก่อสร้างต่อไป อย่างไรก็ตามแม้โครงการดังกล่าวจะล่าช้าไปบ้างแต่ยังยืนยันว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเดินทางของประชาชนแถบชานเมือง

ด้านนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.จะเร่งกลับไปจัดทำตัวเลขเพื่อนำมาเสนอที่ประชุมภายในปลายเดือนหน้า หลังจากก่อนหน้านี้ที่เคยเสนอให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินทั้งหมด 100% แต่ก็โดนปัดข้อเสนอดังกล่าวไปเพราะรัฐบาลมองว่ากทม.ต้องมีส่วนรับภาระโครงการดังกล่าวด้วยหากต้องการบริหารเอง เบื้องต้นกทม.คาดว่าจะเสนอ 3 แนวทางได้แก่ 1. กทม.รับภาระหนี้สินและทรัพย์สิน 70% คิดเป็นเงิน 42,570 ล้านบาท 2.รับภาระหนี้และทรัพย์สิน 50% คิดเป็นเงิน 30,407 ล้านบาท 3.รับภาระหนี้สินและทรัพย์สิน 30% คิดเป็นเงิน 18,244 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ต้องกลับไปเจรจาก่อนว่าจะสามารถรับภาระได้เท่าไหร่ มีเงินจ่ายไหวหรือไม่