posttoday

กรมชลฯยืนยันปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังไม่วิกฤต

17 ตุลาคม 2560

กรมชลประทานยืนยันน้ำในลุ่มเจ้าพระยายังไม่วิกฤต เสริมคันกั้นน้ำป้องกันน้ำล้นหลังระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่ม เผยนายกฯสั่งทุกหน่วยแจงประชาชน

กรมชลประทานยืนยันน้ำในลุ่มเจ้าพระยายังไม่วิกฤต เสริมคันกั้นน้ำป้องกันน้ำล้นหลังระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่ม เผยนายกฯสั่งทุกหน่วยแจงประชาชน

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อที่ประชุมครม.ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมที่ตอนนี้มี 2 พื้นที่ ซึ่งยังมีปัญหา คือ ในภาคอีสานที่ยังมีฝนตกอยู่และมีการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพิ่มเติม จากเดิมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบายน้ำ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวัน มาเป็น 50 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนดังกล่าว คือลำน้ำพองที่อยู่ระหว่างเขต อ.อุบลรัตน์ กับอ.เมือง จ.ขอนแก่น ตลอดระยะความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร(กม.) จึงต้องเสริมคันกั้นน้ำเพื่อไม่ให้เกิดน้ำล้น เนื่องจากการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มอีกนั้น จะทำให้ระดับน้ำในลำน้ำพองสูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร(ซม.) อีกทั้งน้ำจากลำน้ำพองจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำชี จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีตั้งแต่บริเวณจ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และยโสธร เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 20-30 ซม. แต่ไม่เกินกับเหตุที่เคยเกิดก่อนหน้านี้เมื่อครั้งกรณีของพายุเซินกา

สำหรับลุ่มน้ำมูลยังมีการระบายน้ำที่สะสมจากเกิดจากอิทธิพลของพายุเซินกาเมื่อครั้งที่ผ่านมา โดยเรากำลังเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด เพราะการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ใช้เวลา 10 วันก็จะถึงจุดบรรจบของแม่น้ำมูลที่จ.อุบลราชธานี จากนั้นจะต้องชะลอน้ำที่มาจากแม่น้ำมูลเพื่อให้น้ำที่มาจากแม่น้ำชีลงแม่น้ำโขงน้อยที่สุด

นายทองเปลว กล่าวอีกว่า สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น เรายังปิดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ รวมถึงลดการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ส่วนน้ำในแม่น้ำปิงมีปริมาณน้ำลดลง ขณะที่ในแม่น้ำยมยังมีปริมาณปกติ โดยมีสิ่งที่ช่วยไว้ได้มาก คือพื้นที่ลุ่มบางระกำ จ.พิษณุโลก แก้มลิงทุ่งทะเลหลวง รวมถึงบึงระมาณ บึงขี้แร้ง และบึงตะเคร็ง ในอ.บางระกำ ซึ่งตอนนี้มีน้ำเต็มหมดแล้ว  ขณะที่ในจ.น่าน และอ.บางมูลนาก จ.พิจิตร มีระดับน้ำทรงตัว โดยจะไหลมายังสถานีวัดน้ำที่จ.นครสวรรค์ ซึ่งตอนนี้มีน้ำอยู่ที่ประมาณ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที

นอกจากนี้ยังมีบึงบอระเพ็ดช่วยหน่วงน้ำไว้ด้วย และน้ำจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 2,598 ลบ.ม.ต่อวินาที  ส่วนจุดที่จะส่งผลกับกรุงเทพฯ คือ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาที่มีปริมาณการไหลของน้ำ ประมาณ 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที น้อยกว่าค่าวิกฤติ คือ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงถือยังอยู่ในปริมาณที่สามารถดูแลได้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่จ.ปทุมธานีและนนทบุรีจะมีระดับน้ำสูงขึ้น เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 17-18 ต.ค.นี้  ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯยังมีฝนตกอยู่ และกรมอุตุนิยมพยากรณ์ว่าจะยังมีฝนตกมากในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค.นี้

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยและกำชับว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าจะป้องกันไม่ให้พื้นที่นั้นๆไม่เกิดน้ำท่วมได้อย่างไร หรือถ้าพื้นที่ใดมีน้ำท่วมแล้ว จะต้องบอกให้คนในพื้นที่นั้นรับรู้ว่าจะมีน้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ในหรือนอกคันกั้นน้ำ