posttoday

คาดคนขึ้นรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินวันละ 1.6 แสนคน

17 ตุลาคม 2560

รถไฟไฮสปีดอีอีซี 2 แสนล้านผ่านฉลุยไร้เสียงคัดค้าน คาดผู้โดยสารทะลุ 1.6 แสนคนต่อวัน

รถไฟไฮสปีดอีอีซี 2 แสนล้านผ่านฉลุยไร้เสียงคัดค้าน คาดผู้โดยสารทะลุ 1.6 แสนคนต่อวัน

นายสายันต์ อิ่มสม-สมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการ‪รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ ‬3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) วงเงิน 2 แสนล้านบาท หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านบริเวณการก่อสร้างไม่มีการคัดค้าน มีเพียงเรียกร้องลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชน อาทิ กำหนดให้มีการฉีดพรมน้ำ เพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างสม่ำเสมอ การติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราว

นายสายันต์กล่าวต่อว่าคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟธรรมดา (City Line) ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ กว่า 103,920 คน/เที่ยว/วัน และมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง (HSR) ช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง ถึงกว่า 65,630 คน/เที่ยว/วัน สำหรับระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (หยุดทุกสถานี) ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. และระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง (ไม่จอดระหว่างทาง) ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิม ได้แก่

1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองหรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว

2.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท - ดอนเมือง (ARLEX)

3.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง (HSR) โดยโครงการนี้มีการออกแบบเพิ่มเติมบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า-ขาออก) พาดผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระยะทางรวมทั้งหมด 260 กิโลเมตร ประกอบด้วย 10 สถานี เป็นสถานียกระดับ 8 สถานี ได้แก่

สถานีดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีระยอง และสถานีใต้ดิน 2 สถานี ได้แก่ สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา โดยเป็นรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) สองทางวิ่ง โครงสร้างทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างทางยกระดับ (Elevated) มีโครงสร้างระดับดิน (At-Grade) และ โครงสร้างใต้ดิน (Tunnel)