posttoday

ถอดหน้ากาก... การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไทย

13 ตุลาคม 2560

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของไทยตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา

โดย กชพรรณ สัลเลขนันท์ธนาคารแห่งประเทศไทย

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของไทยตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เป็นผลจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่อาจกล่าวได้ว่าการเกินดุลส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง สามารถแยกได้เป็น

1) ปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มไม่กลับไปสูงเท่ากับในอดีตทำให้ดุลการค้าของไทยดีขึ้นจาก Terms of Trade นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ลดลงยังช่วยลดรายจ่ายค่าระวางสินค้านำเข้าและทำให้ดุลบริการดีขึ้น ส่วนความนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจีนยังเป็นแรงส่งสำคัญให้ดุลบริการของไทยปรับจากขาดดุลเป็นเกินดุล ต่อเนื่อง

2) ปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ ปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของไทย ปัจจัยเชิงสถาบันและความล่าช้าของการลงทุนภาครัฐที่ดึงดูดการลงทุนใหม่ของภาคเอกชนเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยอยู่ในระดับต่ำและส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

สำหรับปัจจัยเชิงโครงสร้างภายนอก ไทยคงไม่สามารถควบคุมได้ แต่ปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศ น่าจะเป็นสิ่งที่แก้ไขไดระยะกลางถึงยาว ระยะต่อไปดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีแนวโน้มเกินดุลเพราะปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลดีต่อไทย ทั้งดุลการค้าและดุลบริการแต่ปัจจัยเชิงวัฏจักร ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน น่าจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มเกินดุลลดลง

โดยปัจจุบันการนำเข้าสินค้าทุนที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่การส่งออกฟื้นตัวมีทิศทางดีขึ้นทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด8 เดือนแรกปี 2017 อยู่ที่ 29,861 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 34,045 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระยะต่อไป ที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศคงมิใช่สิ่งที่ดีนัก เนื่องจากเป็นภาพสะท้อนการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการออมของประเทศ ซึ่งย่อมกระทบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของไทย จึงจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) และเทคโนโลยีการปฏิรูประบบศึกษา พัฒนาทักษะแรงงานและสนับสนุนให้ทางการเร่งดำเนินการตามแผนการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงการที่เอื้อให้เกิด Crowding-in effect ที่จะเหนี่ยวนำการลงทุนของภาคเอกชนตามมา พร้อมปรับปรุงกฎเกณฑ์การลงทุนให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

รวมทั้งปรับปรุงโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ให้สอดคล้องกับความท้าทายเชิงโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ช่องว่างระหว่างการออมกับการลงทุนแคบลงได้

นอกจากนี้ ภายใต้บริบทดังกล่าว คำถามสำคัญที่ตามมา คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงเป็นเวลานานจะมีนัยต่อฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (Net International Investment Position : NIIP) ของไทยอย่างไร? โดย CA ที่เกินดุลเปรียบดั่งการสะสมความมั่งคั่งของประเทศ

กล่าวคือเงินออมส่วนเกินจากการลงทุนในประเทศ ใช้นำไปลงทุนใน ต่างประเทศได้ทั้งการลงทุนโดยตรง ลงทุนในหลักทรัพย ให้กู้ยืมหรือชำระคืนหนี้ต่างประเทศ ซึ่งท้ายสุดจะส่งผลให้ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศสุทธิดีขึ้น

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย