posttoday

ไฟเขียวบริษัทลูก "กฟภ." สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน3จังหวัดภาคใต้

11 ตุลาคม 2560

ซุปเปอร์บอร์ดอนุมัติบริษัทในเครือ กฟภ. ตั้งบริษัทลูกลุยสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้

ซุปเปอร์บอร์ดอนุมัติบริษัทในเครือ กฟภ. ตั้งบริษัทลูกลุยสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้ 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 เห็นชอบในหลักการให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จัดตั้งบริษัทในเครือ จำนวน 3 บริษัท เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของแผนงานผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล 

ทั้งนี้ โดยบริษัทในเครือดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและสร้างงานสร้างอาชีพ โดยการรับซื้อไม้ยางพาราจากประชาชนในพื้นที่เป็นลำดับแรก เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงแก้ปัญหาการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ไม่เพียงพอ ลดการพึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากภาคกลางและการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศโดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำกับดูแลบริษัทในเครือที่จัดตั้งขึ้นให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป

นายเอกนิติ กล่าวว่า ที่ประชุม คนร. ยังได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง เพื่อสร้างความยั่งยืนและแข็งแกร่งให้รัฐวิสาหกิจฟื้นฟู คนร. ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวที่สอดคล้องกับภารกิจหลัก โดยเน้นการให้บริการแก่ประชาชน พร้อมนี้ ให้จัดทำแผนปฏิบัติการรายปีภายใต้แผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวดังกล่าว และจัดส่งให้ฝ่ายเลขานุการ คนร. ภายในเดือนตุลาคม 2560 เพื่อนำเสนอ คนร. ต่อไป นอกจากนี้ คนร. ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ดังนี้

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดย คนร. ได้เห็นชอบในหลักการเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) โดยให้ รฟท. จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance) และให้จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรพิจารณารายละเอียดให้มีความชัดเจนและรอบคอบ และให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไปและสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ที่มีส่วนได้เสียด้วย

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยมีการปล่อยสินเชื่อ SMEs เป็นไปตามเป้าหมาย มีการควบคุมค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income) ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) สุทธิสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ธพว. ยังคงรักษา BIS Ratio ได้สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด นอกจากนี้ คนร. ได้ให้ ธพว. จัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ ธพว. รวมทั้งการปรับองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ด้วย 

นายเอกนิติ กล่าวว่า สำหรับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) มีความคืบหน้าด้านการสรรหาพันธมิตรที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้ดีกว่าเป้าหมาย โดย คนร. ได้ขอให้เร่งพลิกฟื้นองค์กรให้ได้โดยเร็ว ควบคู่กับการดำเนินการสรรหาพันธมิตรให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2561 

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) ได้จัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) ในการดำเนินธุรกิจเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำและอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ในการดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แล้ว และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 

สำหรับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) มีผลการดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่กำหนด รายได้รวมใกล้เคียงกับเป้าหมาย และอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่ง ทั้งนี้ คนร. ได้สั่งการให้เร่งนำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และปรับกลยุทธ์ของ บกท. เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับโอกาสจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและการปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พร้อมทั้งกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการให้เหมาะสมด้วย 

สุดท้ายองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร. ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งกำหนดหลักเกณฑ์และเพิ่มจำนวนเส้นทางนำร่องการประมูลเส้นทางเดินรถใหม่สำหรับผู้ประกอบการ และขอให้ ขสมก. เร่งดำเนินการจัดซื้อรถ NGV จำนวน 489 คันให้แล้วเสร็จโดยเร็วนอกจากนี้ ขสมก. ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งระบบ E-Ticket และระบบตรวจสอบและติดตามการเดินรถ (GPS) ในรถโดยสารปัจจุบันแล้ว และจะได้เชื่อมโยงระบบดังกล่าว ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการปรับองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ของ ขสมก. และจัดทำแผนและให้ความสำคัญกับบุคลากรในช่วงเปลี่ยนผ่าน

นายเอกนิติ กล่าวว่า  ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการและสร้างความเข้าใจในร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ) โดยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ประเด็นที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ โดยให้จัดทำแผนและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สาธารณชน

พร้อมกันนี้ คนร. เห็นชอบแนวทางการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีองค์ประกอบเทียบเคียงกับร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ เพื่อทำหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลที่มีทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และสอดคล้องกับสมรรถนะหลัก (Skill Matrix) และนำเสนอ คนร. พิจารณา นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ