posttoday

เกษตรฯเตรียมแผนรับน้ำหลังมีแนวโน้มฝนระลอกใหม่15-17ต.ค.

09 ตุลาคม 2560

"บิ๊กฉัตร"เตรียมแผนรับน้ำก้อนใหม่ หลังกรมอุตุฯ จับตาการก่อตัวของพายุ ช่วง 15-17 ต.ค. มีฝนระลอกใหม่

"บิ๊กฉัตร"เตรียมแผนรับน้ำก้อนใหม่ หลังกรมอุตุฯ จับตาการก่อตัวของพายุ  ช่วง 15-17 ต.ค.  มีฝนระลอกใหม่

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ  เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ    เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณฝนตกหนักส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกท้ายเขื่อนเป็นส่วนใหญ่ทั้ง จ.กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัดส่งผลทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ลำน้ำมากขึ้น  ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสรรค์อยู่ที่ 2,468 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งให้กรมชลประทานไปบริหารจัดการไม่ให้กระทบกับประชาชน   โดยลดการระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ และตัดยอดน้ำเข้าทุ่งบางระกำ

ทั้งนี้กรมชลประทานได้มีการวางแผนล่วงหน้าโดยดึงน้ำออกจากหาดสะพานจันทร์ออกทางฝั่งแม่น้ำน่านระบายลงสู่ทุ่งบางระกำที่สามารถรับน้ำได้  400 ล้านลบ.ม. โดยขณะนี้รับน้ำแล้วกว่า 380  ล้านลบ.ม. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางสัญจรอยู่บ้าง  จึงให้กรมชลประทานนำไปปรับแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำขังเดิมแล้ว ยังมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาที่อาจจะส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ เป็นสองช่วง ช่วงแรกในช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม นี้ที่ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงอยู่ และจะส่งผลกระทบกับอีสานตอนบน จ.สกลนคร นครพนม ยโสธร และภาคเหนือตอนบน ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากยังมีเขื่อนภูมิพลที่ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อน 60% ของความจุอ่าง และเขื่อนสิริกิตติ์ 80  ของความจุอ่าง แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ที่ต้องเร่งแผนการพร่องน้ำเพิ่มเติมเช่นการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งขณะนี้ปริมาณเต็มความจุ 100% แล้ว จำเป็นจะต้องระบายน้ำเพิ่มเติมซึ่งอาจส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ

ดังนั้น รมว.เกษตรได้สั่งการให้มีการประสานแจ้งทางผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถึงข้อมูลปริมาณน้ำไหลผ่าน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ละจุดให้ชัดเจน โดยกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจะเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

สำหรับในช่วงประมาณ 15- 17 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตามการก่อตัวของพายุ ที่จะมีความชัดเจนประมาณวันที่ 13 ต.ค.นี้ ซึ่งรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้สั่งการให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกวัน และทุกๆ 6 ชั่วโมงเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะการเร่งสูบน้ำออกทะเลบริเวณชายขอบของอ่าวไทยช่วงที่น้ำทะเลยังไม่หนุนสูงขณะนี้ และในช่วง1 สัปดาห์นี้จะมีการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มทั้งพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน และแผนรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยอาจจะมีการเร่งการระบายน้ำที่เขื่อนในพื้นที่ภาคกลางและอีสาน คือ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ 9 ต.ค. 60 ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,468  ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.07 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเดิม ได้แก่ บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบในบริเวณดังกล่าว โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ รวมกันวันละประมาณ 440 ลบ.ม. ต่อวินาที จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง เพื่อลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่าง

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ อาทิ บริเวณริมคลองชัยนาท – ป่าสัก ในเขต อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี 2 เครื่อง บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต อ.เมือง จ.อ่างทอง 1 เครื่อง บริเวณ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี 20 เครื่อง พร้อมกับปิดท่อลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้าไปส่งผลกระทบ และยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอ.เมือง จ.อุทัยธานี อีก 5 เครื่องด้วย

ในส่วนของการรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง จนถึงปัจจุบัน (9 ต.ค. 60) สรุปได้ดังนี้ พื้นที่ฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 365 ล้านลบ.ม.  จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 437 ล้านลบ.ม. และพื้นที่ฝั่งตะวันตก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 484.66 ล้านลบ.ม. จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 1,077 ล้านลบ.ม.  รวมทั้งสองฝั่งรับน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 849.66 ล้านลบ.ม.   จากความจุเก็บกักสูงสุดที่รับได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้านลบ.ม.