posttoday

เบรกซื้อแอร์พอร์ตลิงค์ใหม่

06 ตุลาคม 2560

บอร์ด รฟท.ตีกลับแผนแอร์พอร์ตลิงค์โอดผู้โดยสารเกินขีดรองรับแตะ 1 หมื่นคน/วัน หลัง รฟท.ตีกลับแผนจัดซื้อให้ศึกษาเพิ่ม ดึงรถขนสัมภาระวิ่งทดแทน

บอร์ด รฟท.ตีกลับแผนแอร์พอร์ตลิงค์โอดผู้โดยสารเกินขีดรองรับแตะ 1 หมื่นคน/วัน หลัง รฟท.ตีกลับแผนจัดซื้อให้ศึกษาเพิ่ม ดึงรถขนสัมภาระวิ่งทดแทน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) สั่งให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ไปทบทวนแผนการจัดซื้อขบวนรถใหม่ 7 ขบวน โดยให้กำหนดว่าจะเดินหน้าในรูปแบบใด เพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการประชาชน พร้อมเสนอแนะให้แอร์พอร์ตลิงค์พิจารณาการปรับปรุงขบวนรถขนสัมภาระ 4 ขบวน มาวิ่งให้บริการก่อนในระหว่างการรอขบวนรถใหม่ และรอความชัดเจนในโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีมติตีกลับเรื่องโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อให้ รฟท.ไปพิจารณาผลตอบแทนที่เป็นราคาปัจจุบันมากที่สุด จากเดิมได้คำนวณผลตอบแทนตามมาตรฐานของ รฟท. อยู่ที่ 36% ของมูลค่าพื้นที่ ซึ่งบอร์ดแนะให้ดูมาตรฐานของกรมธนารักษ์ที่ 50-60% รวมถึงพิจารณาอายุสัญญาสัมปทานให้มีระยะเวลา 30-50 ปี เพื่อตอบสนองนักลงทุนและเกิดประโยชน์กับ รฟท.มากที่สุด โดยให้ส่งเรื่องกลับมาให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูของ รฟท. เพื่อบริหารสินทรัพย์และเพิ่ม รายได้เชิงพาณิชย์ โดยพื้นที่ดังกล่าว มีเนื้อที่ทั้งหมด 277 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา หน้ายาวประมาณ 2 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกที่ปรึกษาบริหารโครงการควบคุมงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร 2.โครงการก่อสร้างทางคู่ช่วงลพบุรีปากน้ำโพ 3.โครงการก่อสร้างทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ หลังจากนี้จะเร่งดำเนินการเสนอผลการประกวดราคาไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) เพื่อลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาและให้เริ่มทำงานได้ทันทีภายหลังที่มีการลงนามสัญญาทั้ง 5 เส้นทางแล้ว ซึ่งจะสามารถเบิกจ่ายการก่อสร้างงวดแรกได้ประมาณ 15% ภายในเดือน พ.ย.นี้ ดังนั้นจึงคาดว่าเอกชนที่ชนะประมูลโครงการจะเริ่มต้นตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง รวม 9 สัญญา วงเงิน 9.7 หมื่นล้านบาท ได้ภายใน ธ.ค.นี้ ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน หัวหินประจวบคีรีขันธ์ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ลพบุรี-ปากน้ำโพ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ นั้น ขณะนี้ได้รายงานการประกวดราคา

ด้าน นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. กล่าวว่า โครงการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 7 ขบวน วงเงินราว 4,400 ล้านบาทนั้น ได้ถูก รฟท.ตีกลับมาเพื่อจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังจากนี้แอร์พอร์ตลิงค์จะเร่งจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะปริมาณความต้องการเดินทางในเส้นทางดังกล่าว (พญาไท-สุวรรณภูมิ) ว่า ในรอบ 5-10 ปี ระหว่างรอรถไฟฟ้าความ เร็วสูงจะมีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นเท่าใด มีศักยภาพรองรับเพียงพอหรือไม่ ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) แอร์พอร์ตลิงค์พิจารณาในเดือนพ.ย. ก่อนส่งต่อเรื่องกลับไปยังบอร์ด รฟท.ในเดือน ธ.ค.นี้

สำหรับประเด็นด้านการพิจารณาปรับลดจำนวนการจัดซื้อลงจากเดิมที่ 7 ขบวนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าควรปรับลดจำนวนหรือไม่ เนื่องจากแผนศึกษาจัดซื้อ 7 ขบวนนั้น เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะมีการเดินทางระหว่างปี 2560-2567 ซึ่งจะต้องมีศักยภาพรองรับได้ 1.2 แสนคน/วัน เนื่องจากในปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเกินขีดความสามารถการรองรับเกือบ 1 หมื่นคน แม้จะดำเนินการปรับขบวนรถมาเป็น City Line ทั้งหมดเพื่อเพิ่มปริมาณรองรับแล้วก็ตาม โดยทุกวันนี้ มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 7.2 หมื่นคน แต่ปริมาณในช่วงที่มีการใช้บริการสูงสุดถึง 8 หมื่นคน อีกทั้ง การจัดซื้อจำนวนน้อยจะยิ่งมีต้นทุน ต่อหน่วยสูงกว่าการจัดซื้อจำนวนมากอีกด้วย ดังนั้นเรื่องการจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวนจึงต้องทำอย่างรอบคอบ