posttoday

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ย.ปรับขึ้นต่อเนื่องเดือนที่สอง

05 ตุลาคม 2560

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.อยู่ที่ 75.0 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่2 แต่ขยับเพิ่มไม่มาก สะท้อนผู้บริโภคยังไม่เห็นมั่นใจเศรษฐกิจฟื้นจริง

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.อยู่ที่ 75.0 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่2 แต่ขยับเพิ่มไม่มาก สะท้อนผู้บริโภคยังไม่เห็นมั่นใจเศรษฐกิจฟื้นจริง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนก.ย.2560 ว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ 75.0 แต่เป็นการปรับขึ้นเล็กๆ ไม่มาก สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่เห็นและรับรู้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้นตามภาพของเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ เพราะราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และราคาน้ำมันที่ขยับขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ เริ่มปรับขึ้นตาม ขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนก.ย.อยู่ที่ 62.5 ขยับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนส.ค.ที่อยู่ 69.7 ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 50.5 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเดือนก.ย.อยู่ที่ 69.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 92.7

“ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5  นับเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะราคาสินค้าเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่เป็นรายได้หลักของเกษตรกรยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น จึงทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดไม่โดดเด่น เอสเอ็มอีในต่างจังหวัดขายของไม่ได้ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ออกมาไม่เด่นตามมหภาคที่มองว่าฟื้นแล้ว”นายธนวรรธน์ กล่าว

สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ที่แม้อัตราเงินเฟ้อปีนี้จะไม่สูงนัก และค่าครองชีพโดยรวมขึ้นไม่มาก แต่ราคาก๊าซแอลพีจีและราคาน้ำมันที่เริ่มปรับขึ้น ราคาสินค้าทยอยปรับขึ้น ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจเพราะเงินเข้ากระเป๋าน้อยแต่ราคาข้าวของแพงขึ้น จึงส่งผลให้ผลสำรวจภาวการณ์ใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งการซื้อรถยนต์คันใหม่ และการซื้อบ้านหลังใหม่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงไตรมาส4 ของปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเข้ามาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเงินโอนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) จำนวน 11 ล้านคน ที่คาดว่าจะใช้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคประมาณเดือนละ 3,000-4,000 ล้านบาท และเงินโอนค่าโดยสารลงต่างจังหวัดอีกเดือนละ 1,000-2,000 ล้านบาท รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เติบโต ทำให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในไตรมาส 4 และเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ในระดับ 3.7-4.0%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ รัฐบาลต้องทำให้มีเงินหมุนเวียนลงในภูมภาคมากขึ้น เพื่อทดแทนราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ซึ่งจะต้องพยายามทำให้มีการจ้างงานเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ เพราะถ้าหากปล่อยไว้แบบนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตไม่เด่น และปีหน้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตเกิน 4% ได้ยาก

ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า หอการค้าไทยจะมีการพิจารณาปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ใหม่ จากเดิมที่ประมาณการณ์ไว้ 3.6% โดยเบื้องต้นมองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นตามกรอบของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ปรับขึ้นมา 3.7-4%