posttoday

"สมคิด"ผุดกองทุนนวัตกรรม เสนอเอกชนลงขันช่วยรายย่อย

25 กันยายน 2560

"สมคิด"เล็งตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี เตรียมหารือเอกชนรายใหญ่ลงขัน ชี้วัดผลจากสินค้าที่จดคุ้มครองเพิ่มขึ้น

"สมคิด"เล็งตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี เตรียมหารือเอกชนรายใหญ่ลงขัน ชี้วัดผลจากสินค้าที่จดคุ้มครองเพิ่มขึ้น 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เบื้องต้นของการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี จะมีการหารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ตามแนวทางความร่วมมือประชารัฐ ในการนำเงินมาลงขันจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลอาจจะสนับสนุนงบประมาณให้ส่วนหนึ่งร่วมกับภาคเอกชน

ทั้งนี้ กองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี จะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต ซึ่งเงินจากกองทุนจะนำไปสนับสนุนให้เอสเอ็มอีคิดค้นพัฒนาหรือผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม การวัดผลของการใช้เงินกองทุนว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ คือ จะดูจากจำนวนของสินค้านวัตกรรมที่ขอยื่นจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่ามีเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะหากมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาหรือผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมแล้ว สิ่งที่ตามคือการนำสินค้าเหล่านี้มาจดคุ้มครอง เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

“เงินที่จะใช้ในกองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี ยังไม่ได้มีการกำหนดขึ้นมา เพราะขณะนี้เป็นแนวคิดของรองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีกองทุนนี้ โดยจะต้องหารือรายละเอียดกับผู้ประกอบการรายใหญ่ก่อน ซึ่งรัฐอาจลงขันให้บางส่วน และรายใหญ่เจียดเงินบางส่วนมาร่วมกันส่งเสริมตามแนวทางประชารัฐ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ภาคเอกชนรายใหญ่จะได้ประโยชน์จากความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐในการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อเอสเอ็มอี อาจจะออกมาในรูปแบบเมื่อผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมออกมาได้แล้ว ทางผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีความร่วมมือกับสินค้านวัตกรรมที่ใช้เงินกองทุนสนับสนุน เพื่อต่อยอดทางการค้าในสินค้านวัตกรรมดังกล่าวร่วมกัน รวมถึงรายได้จากสินค้านวัตกรรมที่ใช้เงินจากกองทุนสนับสนุนอาจจะแบ่งรายได้บางส่วนกลับมาที่กองทุน เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการต่อยอดให้กับเอสเอ็มอีรายอื่นต่อไป

สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคตต่อการสนับสนุนสินค้านวัตกรรม ซึ่งตนได้สั่งการให้กรมเร่งผลักดันตลาดกลางไอพี (ไอพี มาร์ท) เพราะเมื่อมีสินค้าที่นำมาจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้น จะทำให้กรมเป็นหน่วยงานที่รวบรวมสินค้าทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีนวัตกรรมมากสุด ดังนั้นการผลักดันช่องทางการตลาดจะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สินค้านวัตกรรมเหล่านี้ออกไปสู่สายตาของนักลงทุนและเกิดความร่วมมือกันในอนาคต

“ตลาดไอพี มาร์ท ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำขึ้นมาแล้ว แต่ผมได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มข้นมากกว่านี้ เพราะถือเป็นช่องทางสำคัญในการยกระดับสินค้าที่มีนวัตกรรมให้มีตลาดมารองรับ และจะเป็นตลาดกลางสินค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ใหญ่สุด ที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้มาร่วมมือหรือลงทุนสินค้านวัตกรรมเหล่านี้เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป”นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้าน นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การผลักดัน ไอพี มาร์ท จะมีการจัดทำฐานข้อมูลใหม่หมด เพื่อให้นักลงทุนเห็นชัดเจนมากขึ้น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ระหว่างการยื่นจดทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ขึ้นทะเบียนแล้วแต่ยังไม่มีคนซื้อไปผลิตสินค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่ขึ้นทะเบียนแล้วและมีนักลงทุนซื้อไปผลิตเป็นสินค้าออกขายแล้ว เป็นต้น รวมถึงมีการวิเคราะห์ข้อมูลของทรัพย์สินทางปัญญานั้นว่าจะนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หรือไม่ และมีการประเมินราคาของทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆ ไปผลิตเป็นสินค้าหรือไม่ คาดว่าการปรับปรุง ไอพี มาร์ท จะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2561

“การผลักดัน ไอพี มาร์ท จะมีการจัดทำฐานข้อมูลใหม่หมด โดยจะแยกสินค้าออกมาหลายระดับ เช่น ระดับโกลด์ ระดับซิลเวอร์ เป็นต้น รวมถึงสินค้าที่อยู่ระหว่างการจด และมีการวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าและประเมินราคาของสินค้าเหล่านี้ เพื่อให้เป็นที่ทราบของนักลงทุน และเกิดการลงทุนร่วมกัน คาดว่าฐานข้อมูลใหม่จะแล้วเสร็จต้นปีหน้า” นายทศพล กล่าว