posttoday

พณ.เผย6เดือนจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ 3,799 คดี

12 กันยายน 2560

“พาณิชย์” ระบุ สถิติจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาช่วง 6 เดือนแรกปี 60 จับกุม 3,799 คดี เพิ่ม 1.16% ยึดของกลางกว่า 2 ล้านชิ้น

“พาณิชย์” ระบุ สถิติจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาช่วง 6 เดือนแรกปี 60 จับกุม 3,799 คดี เพิ่ม 1.16% ยึดของกลางกว่า 2 ล้านชิ้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สถิติการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) 2560 มีการตรวจจับได้ทั้งสิ้น 3,799 คดี เพิ่มขึ้น 1.16% เทียบกับสถิติการตรวจจับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 โดยสามารถยึดของกลางรวมทั้งสิ้น 2.04 ล้านชิ้น ซึ่งของกลางที่ยึดได้ส่วนใหญ่เป็นสินค้า เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น 

ทั้งนี้ การดำเนินปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้มอบหมายสำนักป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเอกชนเจ้าของสิทธิ โดยกรมได้จัดชุดจรยุทธ์ร่วมลงพื้นที่ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งชุดระดมกวาดล้างเพื่อปราบปรามในพื้นที่ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม นอกจากความร่วมมือในการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดแล้ว กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประจำพื้นที่ หรือ ไอเพค ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่เฝ้าระวัง 3 จุดสำคัญ ได้แก่ ตลาดนัดสวนจตุจักร ศูนย์การค้ามาบุญครอง และตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว และหากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับสินค้าละเมิดในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสไปยังศูนย์ไอเพคของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้ทันที

นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ทำการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานการป้องปรามการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา และเชียงใหม่ จากการตรวจสอบประเมินผลดังกล่าวปรากฏว่า การจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่ดังกล่าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด