posttoday

อัดงบฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรประสบอุทกภัย

11 กันยายน 2560

“พล.อ.ฉัตรชัย” ชงอนุมัติงบ 2,200 ล้าน ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรประสบอุทกภัย ผ่านโครงการ 9101

“พล.อ.ฉัตรชัย” ชงอนุมัติงบ 2,200 ล้าน ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรประสบอุทกภัย ผ่านโครงการ  9101

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 ก.ย.นี้ อนุมัติงบกลาง 2,295 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมครัวเรือนละ 5,000 บาท โดยจะช่วยเหลือในรูปการส่งเสริมอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ระยะสั้น ผ่านโครงการ 9101 ซึ่งข้อมูลที่พบมีเกษตรกรที่เสียหาย 4.5 แสนครัวเรือน ครอบคลุม 43 จังหวัด

ทั้งนี้ โครงการที่เสนอจะต้องเป็น 4 กิจกรรมที่กำหนด เพื่อสร้างรายได้ให้ครัวเรือน ประกอบด้วยการปลูกพืชอายุสั้น การปลูกพืชเพื่อเป็นอาหาร พืชแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และการแปรรูปอาหาร

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ความเสียหายด้านการเกษตร รวม 45 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.ถึงปัจจุบัน พบว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 347,756 ราย แบ่งเป็น ด้านพืช ประสบภัย 43 จังหวัด สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 332,142 ราย พื้นที่ 2.65 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2.46 ล้านไร่ พืชไร่ 0.19 ล้านไร่
พืชสวนและอื่นๆ 0.007 ล้านไร่ ด้านประมง ประสบภัย 33 จังหวัด สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 14,405 ราย พื้นที่บ่อปลา 12,576 ไร่ 9,389 ตารางเมตร (ตร.ม.) ด้านปศุสัตว์ ประสบภัย 29 จังหวัด สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 1,209 ราย สัตว์ตายและสูญหาย 45,830 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 15 ตัว สุกร 63 ตัว แพะ-แกะ 22 ตัว สัตว์ปีก 45,730 ตัว แปลงหญ้า 59 ไร่

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงแผนปฏิบัติการผลิตอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2018-2022 ว่า ไทยให้การสนับสนุนเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลก รวมทั้งแผนปฏิบัติการเสียมราฐ ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS เมื่อวันที่  8 ก.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับแผนปฏิบัติการเสียมราฐที่นำเสนอในครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของไทย ทั้งในระยะสั้น 5 ปี และระยะยาวหรือ 20 ปี ตั้งแต่การจัดสรรที่ดินทำกินและการเพิ่มพื้นที่ชลประทานเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงทรัพยากรทางการเกษตรอย่างทั่วถึง การสนับสนุนการทำการเกษตรที่ปลอดภัยทั้งสินค้าเกษตรที่มีการผลิตที่ดี หรือ GAP และแบบอินทรีย์ ที่ปลอดภัยกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนทั้งในเชิงพาณิชย์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เพื่อลดต้นทุนและร่วมกันผลิตและเชื่อมโยงสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ทำการเกษตรเพื่อยังชีพแบบพอเพียงด้วย

ทั้งนี้ การให้การรับรองยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ สมาชิกแต่ละประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายและรายงานผล ต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 6 ในเดือน มี.ค. 2561 และนำเสนอโครงการภายใต้ภาคเกษตรโดยรวมเพื่อผนวกไว้ในแผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Action Plan) ปี 2561-2565 เนื่องจากยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน