posttoday

"อีอีซี"ต้องการวิศวกร-แรงงานขั้นสูงกว่าแสนคนใน5ปี

10 กันยายน 2560

ส.อ.ท.ชี้ 5 ปี ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานขั้นสูงกว่า 1 แสนอัตรา แนะรัฐผนึกสถาบันการศึกษาและเอกชนปั้นบุคลากรป้อนเข้าอีอีซี

ส.อ.ท.ชี้ 5 ปี ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานขั้นสูงกว่า 1 แสนอัตรา แนะรัฐผนึกสถาบันการศึกษาและเอกชนปั้นบุคลากรป้อนเข้าอีอีซี 

นายขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมได้คาดการณ์ว่าหลังจากเปิดพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) แล้ว คาดว่าจะมีความต้องการแรงงานระดับวิศวกรและกลุ่มแรงงานที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงมากกว่า 1 แสนคน ในระยะ 5 ปีนับจากนี้

ทั้งนี้ ความต้องการแรงงานทักษะขั้นสูงที่มากขึ้นนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งสร้างบุคลากรรองรับภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ขาดแคลนแรงงาน

“ภาครัฐควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวางแผนส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับภาคอุตสาหกรรม” นายขัติยา กล่าว

ด้าน ส.อ.ท.มีโครงการมุ่งพัฒนาแรงงานช่างระดับสูงในจำนวนหลายหมื่นอัตรา โดยคาดการณ์ว่าอีอีซีจะส่งเสริมการลงทุนและผลักดันให้ภาคเอกชนในประเทศพร้อมลงทุนด้านวิจัยมากขึ้น และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรทักษะสูงและแรงงานในประเทศ พร้อมผลักดันการทำวิจัยให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และการร่วมสร้างนวัตกรรม

สำหรับโครงการอีอีซีที่จะเกิดการลงทุนใหม่ในพื้นที่จำนวนหลายแสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานแรงงานใหม่ ควรจะผลักดันภาคธุรกิจกลุ่มขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ได้รับประโยชน์ เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายการผลิต (ซัพพลายเชน) ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มากที่สุด

นายขัติยา กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยมุ่งลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีในระดับน้อย เพราะมีเงินลงทุนในธุรกิจที่จำกัดเพื่อผลักดันมูลค่าการผลิตในประเทศมากขึ้น และส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันระหว่างธุรกิจขนาดล็กและขนาดใหญ่

"ปัญหาอุปสรรคหลักของการอาร์แอนด์ดีมาจากการที่องค์ความรู้ส่วนใหญ่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมถึงปัญหาด้านบุคลากรและห้องแล็บ ช่องทางการหาข้อมูลความรู้ไม่หลากหลาย ทำให้การลงทุนสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นไปอย่างล่าช้า"นายขัติยา กล่าว