posttoday

เบรกสินค้าขึ้นราคาอ้างก๊าซหุงต้ม

06 กันยายน 2560

“พาณิชย์” เบรกผู้ผลิตสินค้าอ้างก๊าซหุงต้มขึ้น 10 บาท/ถัง ปรับขึ้นราคา ชี้กระทบเงินเฟ้อแค่ 0.04% เร่งร้านขายจานด่วนเข้าร่วมหนูณิชย์พาชิมมากขึ้น ด้านม.หอการค้าไทย ประเมินมีผลต่อจานด่วนขึ้นแค่ 50 สตางค์/จาน

“พาณิชย์” เบรกผู้ผลิตสินค้าอ้างก๊าซหุงต้มขึ้น 10 บาท/ถัง ปรับขึ้นราคา ชี้กระทบเงินเฟ้อแค่ 0.04% เร่งร้านขายจานด่วนเข้าร่วมหนูณิชย์พาชิมมากขึ้น ด้านม.หอการค้าไทย ประเมินมีผลต่อจานด่วนขึ้นแค่ 50 สตางค์/จาน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 67 สตางค์ต่อกิโลกรัม (กก.) ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นเป็นกก.ละ  21.15 บาท และทำให้ก๊าซหุงต้มขนาด 15 กก.ปรับขึ้น 10 บาท/ถังนั้น เชื่อว่าไม่ส่งผลทำให้สินค้าปรับขึ้นราคา เพราะก๊าซหุงต้มกระทบต่อทุนสินค้าเพียงเล็กน้อย โดยขณะนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในเข้าไปตรวจสอบราคาจำหน่ายสินค้าทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าผิดปกติ หากพบเห็นปรับราคาสินค้าแจ้งสายด่วน 1569 ได้ทันที

“ส่วนผู้ประกอบการอาหารจานด่วน ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อหามาตรการช่วยเหลือร้านค้าขนาดเล็กและร้านแผงลอยที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการหนูณิชย์พาชิม  จึงต้องผลักดันให้เข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น เนื่องจากจะมีการเชื่อมโยงวัตถุดิบ คือก๊าซหุงต้มในราคาถูกให้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับตัวสูงขึ้น” นางอภิรดี กล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มครั้งนี้  ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มเพียงเล็กน้อย และกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.04% จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จใช้เป็นข้ออ้างในการปรับราคา  โดยการปรับราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการปรับครั้งที่ 2 ในรอบปี นับจากเดือนก.พ. 2560 อยู่ที่กก.ละ 20.96 บาท หลังจากนั้นเดือนพ.ค. 2560 ปรับลดลงเหลือกก. 20.49 บาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นก๊าซแอลพีจี 10 บาท/ถัง คาดว่าไม่กระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า เพราะการขนส่งสินค้าใช้ก๊าซแอลพีจีขนส่งเพียงสัดส่วน 10-20% เท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีและน้ำมันดีเซล ดังนั้นจึงไม่มีน้ำหนักทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่ในส่วนของการใช้แอลพีจีภาคครัวเรือน ซึ่งจะใช้ภายในครอบครัวและร้านอาหาร-ภัตตาคารนั้น พบว่าร้านอาหารและภัตตาคารจะใช้ก๊าซหุงต้มวันละ 1 ถัง ส่วนครัวเรือนใช้ก๊าซหุงต้มประมาณเดือนละครึ่งถัง จึงทำให้ต้นทุนของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นไม่สูงนัก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร้านอาหารจานด่วนที่ต้องใช้ก๊าซหุงต้มประกอบอาหารนั้น คาดว่าจะทำให้ราคาอาหารจานด่วนปรับขึ้นประมาณ 0.25-0.50 บาท/จาน/ชาม ซึ่งก็ไม่ใช่เหตุผลที่ราคาอาหารจานด่วนจะปรับขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรจะเข้าไปดูแลในส่วนของผู้ประกอบการไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอาหารจานด่วนและราคาสินค้าขึ้นมา เพราะการขึ้นแอลพีจีมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าน้อยมาก