posttoday

จ่อถกกัมพูชาเคลียร์รับซื้อไฟสตึงมนัม

06 กันยายน 2560

นายกฯ เล็งหารือรัฐบาลกัมพูชาหาทางออกอัตราซื้อไฟโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม 7 ก.ย.

นายกฯ เล็งหารือรัฐบาลกัมพูชาหาทางออกอัตราซื้อไฟโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม 7 ก.ย.

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2560 ได้มีการหารือถึงประเด็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ในประเทศกัมพูชาโดยวางแนวทางที่จะมีการไปเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีของกัมพูชาในวันที่ 7 ก.ย.นี้ แต่เชื่อว่าอัตราที่ไทยจะรับซื้อไฟนั้นคงไม่ได้สูงอย่างที่เป็นข่าวแน่นอน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ที่ประเทศกัมพูชา ขณะนี้ยังอยู่ใน ขั้นตอนชะลอโครงการ เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการเท่านั้น จากเดิมที่ต้องการปริมาณน้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มาใช้ในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเสริมความมั่นคงด้านระบบนิเวศและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำเพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่อีอีซีก่อน

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการเท่านั้น เพราะมีกำลังการผลิตเพียง 24 เมกะวัตต์เท่านั้น โดยจะนำมาเสริมระบบไฟฟ้าใน จ.ตราดและจันทบุรี ที่อยู่ปลายสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีปัญหาไฟฟ้าตกและดับเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าจากโครงการสตึงมนัมอยู่ที่ 10.75 บาท/หน่วยนั้นเป็นราคาขั้นสูงสุด ซึ่งราคา ดังกล่าวไทยจะได้ทั้งน้ำและไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ ตามนโยบายอีอีซีที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะจะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการน้ำในอนาคต แต่หากกรมชลประทานยังยืนยันว่า ปริมาณน้ำในประเทศเพียงพอใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้อีก 12 ปี ก็ต้องติดตามว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป จึงต้องมีการศึกษาให้รอบคอบหากพ้นช่วงดังกล่าวไปแล้ว

"นอกจากเราจะได้ไฟฟ้าแล้วยังได้น้ำจากโครงการดังกล่าวด้วย ซึ่งถ้าคิดเป็นมูลค่าจริงๆ เทียบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอยู่ที่ 2.60 บาท/หน่วย ขณะที่ได้รับจัดสรรน้ำวันละ 3 คิว/หน่วยผลิตไฟฟ้า และสามารถกำหนดช่วงเวลาได้ว่าเราจะรับซื้อมากน้อยในช่วงหน้าแล้งยังไง โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติรับทราบร่างการลงนามความร่วมมือระหว่างสองประเทศเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาใดๆ ของทั้งสองฝ่าย และสตึง มนัมเป็นโครงการที่ยาวนานกว่า 30 ปี" นายประเสริฐ กล่าว